
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ (CPF) นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ เพื่อลดการสูญเสียอาหารและเกิดขยะอาหาร (Food Loss & Waste) ตลอดจนห่วงโซ่คุณค่า และการลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตอาหารได้สำเร็จ พร้อมนำขยะอาหารและของเสียกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งในรูปของอาหารสัตว์ ปุ๋ย พลังงาน ฯลฯ มุ่งมั่นเติบโตอย่างยั่งยืน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ
กอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุด สายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการคำนึงถึงการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ดูแลการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การจัดการกระบวนการผลิต เพื่อให้เกิดประโยชน์เต็มประสิทธิภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มของที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก รวมถึงการจัดการการสูญเสียอาหาร (Food Loss) และขยะอาหาร (Food Waste) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดของเสียจากกระบวนการผลิต รวมไปถึงการลดขยะอาหารจากกิจกรรมของบริษัทที่ถูกนำไปฝังกลบและเผาให้เป็นศูนย์ ในปี 2573
ปัจจุบันหน่วยธุรกิจต่าง ๆ ของซีพีเอฟ ได้ทำโครงการลดการสูญเสียอาหาร (Food Loss) ในกระบวนการผลิต ด้วยการปรับปรุงเครื่่องจักรและอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ ธุรกิจแปรรูปไข่และขนมปัง โดยรปรับปรุงอุปกรณ์การไล่ลมในท่อไข่ เพื่อลดของเสียในกระบวนการผลิต ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป โดยปรับปรุงสายพาน เพื่อลดการตกหล่นของสินค้า ธุรกิจสัตว์น้ำ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มคุณค่าจากผลพลอยได้ และนำของเสียที่ไม่สามารถบริโภคได้ กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ธุรกิจสายไก่ โดยจัดสภาพแวดล้อมและใช้วิธีการที่นุ่มนวลตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ทำให้ปริมาณไก่สูญเสียลดลง ใช้สายพานลำเลียงไข่ เพื่อลดความเสียหายจากการเก็บ นำชิ้นส่วนเนื้อที่เหลือมาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ทานเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง และชิ้นส่วนที่เหลือที่ไม่สามารถบริโภคได้ ไปใช้ประโยชน์เป็นอาหารสัตว์ ฯลฯ และยังมีโครงการที่พัฒนาร่วมกับผู้ผลิตปลาป่น โดยนำผลผลิตพลอยได้มาเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดใหม่ที่มีคุณภาพ ทดแทนการนำวัตถุดิบเข้าจากต่างประเทศ
กอบบุญ กล่าวเพิ่มเติมถึง แนวนโยบายด้าน Food Waste ของบริษัทฯ ว่า ได้สานต่อความร่วมมือกับ มูลนิธิสโกลาร์ส ออฟ ซัสทีแนนซ์ (มูลนิธิ SOS สาขาประเทศไทย) พันธมิตรที่ร่วมกันดำเนิน”โครงการ Circular Meal มื้อนี้เปลี่ยนโลก” มาอย่างต่อเนื่อง เข้าสู่ปีที่ 4 ในการนำอาหารส่่วนเกิน ( Surplus Food)จากศูนย์กระจายสินค้าบางน้ำเปรี้ยว จ. ฉะเชิงเทรา และ ศูนย์กระจายสินค้ามหาชัย จ.สมุทรสาคร ของซีพีเอฟ ในรูปแบบอาหารพร้อมปรุงทั้งแบบแช่แข็งและแช่เย็น ส่งมอบให้กับกลุ่มเปราะบางที่อาศัยอยู่ในชุมชนต่างๆในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น ผู้มีรายได้น้อย เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ซึ่งในปี 2566 ได้ส่งมอบอาหารปรุงสุกพร้อมทาน รสชาติอร่อย ปลอดภัย ไปแล้วกว่า 79,000 มื้อ ลดขยะอาหารได้รวมกว่า 18 ตัน และลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 47 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ประมาณ 5,000 ต้น
“ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจผลิตอาหาร จึงให้ความสำคัญกับการจัดการการสูญเสียอาหารและขยะอาหารตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อป้องกันและลดการสูญเสียอาหาร ตลอดจนการนำของเสียหรือเหลือทิ้งจากการผลิตและบริโภคมาต่อยอดให้เกิดคุณค่าในรูปแบบต่างๆ เช่น ผลิตก๊าซชีวภาพ(Biogas)จากมูลสัตว์ ผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว การเพิ่มมูลค่าจาก By-product และของเสีย เช่น ขนไก่ แปรรูปเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ จากผลการดำเนินงานในปี 2566 เราสามารถจัดการการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและขยะอาหาร ให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ถึงเกือบ 80% ” กอบบุญ กล่าว
ที่มา: www.cpfworldwide.com