
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ คว้ารางวัลผู้ชนะเลิศสูงสุด (Supreme Winner) และเหรียญทอง Gold Award สําหรับผลงานชนะเลิศในกลุ่มบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม จากการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติก “The 5th Thailand Plastics Awards 2024” จากผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ถาดไข่ไก่สดที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล 100% ซึ่งประกอบด้วยพลาสติก PCR (Post-Consumer Recycled) ถึง 55% สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของซีพีเอฟในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยรับมอบจาก เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
การประกวด The 5th Thailand Plastics Awards 2024 โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย, สถาบันพลาสติก, กรมควบคุมมลพิษ และ A-PLAS 2024 จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเน้นแนวคิด 3R (Reduce, Reuse, Recycle) เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงความสำคัญของการลดมลภาวะจากพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมพลาสติก
กิตติ หวังวิวัฒน์ศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บรรจุภัณฑ์ถาดไข่ไก่สดของบริษัทผลิตจากพลาสติก PET รีไซเคิล 100% โดยมีส่วนประกอบของพลาสติก PCR ถึง 55% ซึ่งเป็นพลาสติกที่มาจากการนำพลาสติกที่ผ่านการใช้งานจากผู้บริโภคกลับมารีไซเคิล ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตพลาสติกใหม่

โดยซีพีเอฟได้ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สามารถคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น ด้วยการใช้ฉลากกระดาษสอดในบรรจุภัณฑ์ แทนการใช้สติกเกอร์พลาสติกที่มีแถบกาว ลดการปนเปื้อนและทำให้กระบวนการรีไซเคิลมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งวัสดุพลาสติกรีไซเคิลที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ของซีพีเอฟได้รับการตรวจสอบคุณภาพและรับรองความปลอดภัยจากห้องปฏิบัติการขององค์กรรับรองภายนอกว่าสามารถใช้บรรจุไข่ไก่สดได้อย่างปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของอาหาร ซึ่งผลิตภัณฑ์ไข่ไก่ในถาดพลาสติกรีไซเคิล 100% นี้วางจำหน่ายแล้วที่ร้านค้าทั่วประเทศ โดยไม่ปรับขึ้นราคา เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการลดมลภาวะและสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
“การใช้บรรจุภัณฑ์ถาดไข่ไก่สดที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล ไม่เพียงแต่ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต เนื่องจากการใช้วัสดุพลาสติกรีไซเคิลมีคาร์บอนฟุตพรินต์ต่ำกว่าการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ โดยเราสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงได้ถึง 29%” กิตติ กล่าวปิดท้าย
ที่มา: https://www.facebook.com/CPFGroup