
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่เป็นสิทธิของชุมชน และเป็นเครื่องมือในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าท้องถิ่น ซึ่งสินค้า GI ล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อันเป็นผลมาจากสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น อีกทั้งยังมีคุณภาพโดดเด่นเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์สำคัญที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศกว่า 51,000 ล้านบาท/ปี กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงมุ่งมั่นส่งเสริมสินค้า GI เชิงรุกในทุกมิติ ทั้งด้านการขึ้นทะเบียน GI การควบคุมคุณภาพสินค้า การส่งเสริมการตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นสามารถนำระบบ GI มาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI โดย “บรรจุภัณฑ์” สร้างความโดดเด่นให้กับสินค้า และมีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้สินค้าเสียหาย เปรียบเสมือนการแต่งตัวให้กับสินค้า GI ที่มีคุณภาพอยู่แล้ว ให้สวยงาม ดึงดูดใจผู้บริโภค อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของสินค้านั้นได้เป็นอย่างดี โดยปีนี้ กรมฯ ได้เชิญนักออกแบบมือรางวัลระดับประเทศมากด้วยประสบการณ์ เช่น คุณโตส ปัญญวัฒน์ พิทักษวรรณ ศิลปินผู้ได้รับการคัดเลือกโดยตรงจากทาง อาดิดาส โกลบอล หรือ อาดิดาส สำนักงานใหญ่ ที่ประเทศเยอรมนี เป็นต้น มาร่วมออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการสินค้า GI ที่ได้รับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์
กรมทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้าโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ดึงนักออกแบบมืออาชีพร่วมพัฒนาบรรจุภัณฑ์และเครื่องหมายการค้าแก่ผู้ประกอบการ
สำหรับสินค้า GI ที่ได้รับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เช่น มะยงชิดนครนายก ของจังหวัดนครนายก ลูกหยียะรัง ของจังหวัดปัตตานี กล้วยตากบางกระทุ่มพิษณุโลก ของจังหวัดพิษณุโลก กล้วยหินบันนังสตา ของจังหวัดยะลา ญอกมละบริน่าน ของจังหวัดน่าน ส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงคราม ของจังหวัดสมุทรสงคราม เสื่อกกบ้านสร้าง ของจังหวัดปราจีนบุรี มะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว ของจังหวัดสระแก้ว มะพร้าวน้ำหอมบางคล้า ของจังหวัดฉะเชิงเทรา สับปะรดภูเก็ต ของจังหวัดภูเก็ต และสังคโลกสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น
“กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ดำเนินการผลิตบรรจุภัณฑ์ต้นแบบให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เรียกได้ว่าเป็นการรวม “ศาสตร์” และ “ศิลป์” เข้าไว้ด้วยกัน จนเกิดเป็นเครื่องแต่งกายให้กับสินค้า GI ที่สมบูรณ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชนอย่างยั่งยืน และพร้อมก้าวสู่ตลาดสากลได้อย่างเข้มแข็ง” นายวุฒิไกรกล่าว
สำหรับโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นกิจกรรมที่กรมดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ.2560 และได้รับผลตอบรับดียิ่ง โดยยังมีผู้ประกอบการ GI ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งในปีหน้า กรมฯ มีแผนเพิ่มจำนวนสินค้า GI ขึ้นเท่าตัว เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในตลาดสากลให้ครอบคลุมสินค้า GI ทั่วประเทศ และส่งเสริมสินค้า GI ไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน