ผศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรือที่เรารู้จักในนามอาจารย์เจษฎ์ ออกมาเปิดเผยว่าไม่ควรใช้ปากกาเมจิกเขียนบนพลาสติกบรรจุอาหาร พร้อมย้ำว่าเคยเตือนเรื่องนี้หลายครั้ง เนื่องจากสีจากเมจิกอาจมีการซึมด้วยความร้อนและก่อให้เกิดมะเร็งได้

เฟซบุ๊กอ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ มีการโพสต์ข้อความเตือนคนที่เข้ามาชมโดยมีการพูดถึงผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งโพสต์ภาพลงในกรุ๊ป “พวกเราคือผู้บริโภค” พร้อมแคปชั่นสั้นๆ ว่า “โจ๊กเจ้าดังเจ้าหนึ่ง” โดยภาพที่โพสต์นั้น เป็นภาพของถุงโจ๊กหมู ที่ใช้ปากกาเมจิกเขียนว่า “หมูล้วน” แต่สีได้เลือนออกมาเล็กน้อย ซึ่งเมื่อนำออกมารับประทานแล้ว ก็พบว่าสีได้ซึมเข้าไปที่เนื้อโจ๊กด้วย (จากข่าว https://www.matichon.co.th/social/news_4091461)
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เกิดจากพลาสติกเป็นวัสดุที่มีโมเลกุลของสารตั้งต้นมาจับตัวกันเป็นสายยาวและเป็นร่างแหของโพลิเมอร์ โดยที่ในตัวเนื้อพลาสติกนั้น ก็มีช่องว่างเล็กๆ เมื่อพลาสติกถูกความร้อนส่งผลลให้เกิดการขยายตัวขึ้น ทำให้ช่องว่างเหล่ามีพื้นที่กว้างขึ้น ความชื้นหรืออากาศสามารถแทรกซึมผ่านได้
ขณะที่หมึกของปากกาเมจิกนั้น ก็เป็นสารเคมีที่มีสภาพเป็นสารมีขั้ว จึงอาจจะซึมผ่านเนื้อของพลาสติกบางชนิดได้ดี โดยเฉพาะกับพลาสติกกลุ่มที่มีเนื้อไม่แน่น และซึมผ่านไปยังเนื้อของอาหาร ที่มีสภาพเป็นสารมีขั้วเช่นกันได้ แถมยิ่งอาหารร้อนมาก ก็จะยิ่งเกิดการซึมผ่านเข้าไปได้ง่ายขึ้นด้วย
เนื้อสีของปากกาเมจิก มีสารเคมีที่เป็นตัวทำละลาย ซึ่งถ้าบริโภคเข้าไปก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย และอาจเป็นสารก่อมะเร็งได้ จึงไม่ควรเขียนถุงพลาสติกบรรจุอาหารด้วยปากกาเมจิกครับ เพราะถุงพลาสติกไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สำหรับการเขียนปากกาเมจิกลงไป แต่ควรหาวิธีอื่นๆ ที่จะสร้างสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายแทน

ด้านกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เคยเตือนภัยเรื่องเช่นเดียวกันถึงปากกาเมจิกซึมทะลุอาหาร โดยแนะนำว่า “เตือนภัยปากกาเมจิกซึมทะลุถุงอาหาร ควรเลือกใช้ถุงให้ถูกประเภท หรือ ถุงใส่อาหารที่ได้มาตรฐานสามารถทนความร้อนได้ 100-120 องศาเซลเซียส สีหมึกจะไม่ซึมผ่านเข้าไป และไม่ควรใช้ปากกาเคมีมาเขียนบนถุงพลาสติก ที่ใส่อาหารโดยตรง ให้ใช้วิธีแปะสติกเกอร์ เลี่ยงการทานอาหาร ที่มีการเขียนถุงด้วยปากกาเมจิก”
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์