
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยภาพรวมดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 จากต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น และการเงิน ทั้งอัตราดอกเบี้ย และอัตราค่าจ้างยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงผู้บริโภคที่ใช้บริการแบบ e-Commerce มีมากขึ้น ส่งผลให้การขนส่งแบบถึงมือผู้รับ (Last-Mile Delivery) เติบโตตามไปด้วย
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ภาพรวมดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 หลังจากที่ชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 และปรับตัวลดลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 โดยมีสาเหตุจากการสูงขึ้นของต้นทุนด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และการเงิน ทั้งอัตราดอกเบี้ย และอัตราค่าจ้างยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับปริมาณการขนส่งสินค้าทางถนนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากความต้องการขนส่งที่ขยายตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคการส่งออก และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้บริการแบบดิจิทัลมีมากขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมการขนส่งแบบถึงมือผู้รับ (Last-Mile Delivery) เติบโตต่อเนื่อง
โดยดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน แบ่งตามกิจกรรมการผลิต มีการปรับขึ้นค่าบริการร้อยละ 2.0 (YoY) ในการขนส่งสินค้าทุกหมวด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ผลิตภัณฑ์จากเหมือง ร้อยละ 1.1 ผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ร้อยละ 0.7 แบ่งตามโครงสร้างแบ่งตามประเภทรถ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 (YoY) อาทิ รถตู้บรรทุก เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 รถบรรทุกวัสดุอันตราย ร้อยละ 1.2 รถบรรทุกเฉพาะกิจร้อยละ 0.8 รถกระบะบรรทุกร้อยละ 0.7 และรถบรรทุกของเหลว ร้อยละ 0.7 ขณะที่รถพ่วง ลดลงร้อยละ 0.3 ส่วนรถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว ดัชนีราคาฯ ไม่เปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ การปรับเพิ่มขึ้นของดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน สอดคล้องกับดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขายปลีกในประเทศ โดยไตรมาสที่ 2 ปี 2567 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้นร้อยละ 4.41 ราคาโดยเฉลี่ยน้ำมันดีเซลหมุนเร็วตลาดสิงคโปร์ และราคาน้ำมันดิบดูใบ ไตรมาสที่ 2 ปี 2567 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.30 และ 10.17 ตามลำดับ นอกจากนี้ การส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 2 เดือน (เม.ย. 67 ร้อยละ 6.8 พ.ค. 67 ร้อยละ 7.2) และมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับการขนส่งสินค้าทางถนนที่เติบโตขึ้นตามเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้บริการแบบดิจิทัลมากขึ้น ทำให้ธุรกิจ e-Commerce และกิจกรรมการขนส่งแบบถึงมือผู้รับ (Last-Mile Delivery) เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนทำให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนเพิ่มขึ้น
สำหรับแนวโน้มดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าบนท้องถนน ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น โดยมีปัจจัยจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิง อัตราค่าจ้าง และดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับที่สูง ขณะเดียวกันการส่งออกและภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ส่งผลดีต่อความต้องการการขนส่ง ประกอบกับฐานที่ใช้คำนวณดัชนีไตรมาสที่ 3 ปี 2566 อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ส่งผลให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนในไตรมาสที่ 3 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ภาครัฐออกมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล อาจส่งผลให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไม่เป็นไปตามที่คาดได้
“รูปแบบการขนส่งสินค้าในประเทศเป็นการขนส่งทางถนนเป็นหลัก เนื่องด้วยลักษณะของการขนส่งทางถนนสามารถส่งตรงจากผู้ส่ง (ต้นทาง) ถึงผู้รับ (ปลายทาง) และสามารถเชื่อมโยงการขนส่งรูปแบบอื่นที่ไม่สามารถขนส่งจากต้นทางถึงปลายทางได้ ดังนั้น การขนส่งทางถนนจึงมีบทบาทค่อนข้างสูง จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2565 ปริมาณการขนส่งทางถนนมีสัดส่วนถึงร้อยละ 79.48 ของการขนส่งรวม เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 78.72 ในปี 2564 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการขนส่งที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ศูนย์วิจัยกรุงศรีรายงานว่า ต้นทุนการขนส่งสินค้าทางถนนสูงกว่าการขนส่งรูปแบบอื่น (ยกเว้น ทางอากาศ) เนื่องจากมีสัดส่วนของต้นทุนผันแปรสูง อาทิ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง (สัดส่วนร้อยละ 49 ของต้นทุนรวม) และค่าจ้างขับรถ (สัดส่วนร้อยละ 32) เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน ขณะที่การปรับขึ้นค่าบริการขนส่งทำได้จำกัด เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งการแข่งขันกับผู้ประกอบการในประเทศและต่างชาติ” พูนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
ที่มา: tpso.go.th/news