เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เจ้าของแบรนด์เครื่องดื่มยอดฮิตอย่าง “เป๊ปซี่” เดินหน้าใส่ใจสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง เมื่อล่าสุดทำการส่งมอบพาเลทไม้เทียมแปรรูปจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วล็อตแรก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก

วันที่ 19 มิถุนายน 2566 นายสุดิปโต โมซุมดา กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและเวียดนาม บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด (“เป๊ปซี่โค ประเทศไทย”) เปิดเผยถึงความสำเร็จในการผลิตพาเลทไม้เทียม ที่ทำมาจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกอ่อนหลายชั้น หรือชื่อภาษาอังกฤษเรียกว่า (Multilayer plastic packaging – MLP) โดยได้นำมาใช้งานที่โรงงานผลิตของเป๊ปซี่
ถือเป็นก้าวย่างสําคัญซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเป๊ปซี่โคในการหาหนทางเพื่อลดปัญหาขยะพลาสติก พร้อมทั้งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเชื่อว่าพลังของความมุ่งมั่นการทำงานร่วมกันจะเป็นแรงขับเคลื่อนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้
เป๊ปซี่โค เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรายใหญ่ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ MLP เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้เร่งขับเคลื่อนพร้อมวางเป้าหมายการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ MLP หลังการบริโภคให้ได้มากที่สุด เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเพิ่มมูลค่าและสร้างประโยชน์ผ่านการอัพไซเคิล เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
โครงการ “Journey to Zero Waste” มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับการคัดแยกขยะ และประโยชน์ของการนำขยะไปแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโดยมุ่งเน้นไปที่การแปรรูปบรรจุภัณฑ์ MLP ใช้แล้ว ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ รวมทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
โดยพาเลทไม้เทียมแปรรูปล็อตแรกจากจำนวน 1,000 ชิ้น ได้ถูกจัดส่งไปยังโรงงานเป๊ปซี่โค ประเทศไทย ณ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแล้ว โดยพาเลทแต่ละชิ้นทำมาจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วจำนวน 24.5 กิโลกรัม รวมถึงบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภท MLP จำนวน 19.6 กิโลกรัม หรือการใช้ซองมันฝรั่งทอดกรอบเลย์ ขนาด 25 กรัม จำนวน 7,025 ถุง
นอกจากการแปรสภาพบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วให้เป็นพาเลทไม้เทียมแล้ว โครงการ “Journey to Zero Waste” ยังได้เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้ว เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มอื่นๆ เช่น แผ่นไม้เทียมที่สามารถนำมาใช้ทำเก้าอี้และโต๊ะนักเรียน เพื่อนำไปมอบให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนในชุมชนเกษตรกรในภาคเหนือ และโรงเรียนอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการศึกษาอีกด้วย
สำหรับโครงการ “Journey to Zero Waste” เกิดขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์ pep+ (PepsiCo Positive) ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับโลก ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ครบวงจรอย่างยั่งยืน โดยมีหัวใจสำคัญในกำหนดวิธีการที่บริษัทจะสร้างความเติบโตและคุณค่าจากการดำเนินงานภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากรโลก และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกแก่โลกรวมถึงประชากรทั่วโลก