
ข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญของบ้านเรา และเป็นอาหารหลักของชาวไทย ข้าวมีพันธุ์ต่างๆมากมายที่มีสรรพคุณและคุณค่าทางอาหารแตกต่างกัน เมื่อเอ่ยถึง “บรรจุภัณฑ์ข้าว” ทุกคนคงคุ้นเคยเพราะเป็นสินค้าที่ทุกบ้านซื้อมาบริโภค และผู้บริโภคส่วนใหญ่คิดว่า “บรรจุภัณฑ์ข้าวธรรมดา เป็นถุงพลาสติกที่พิมพ์” ก็เท่านั้น
บทความนี้จะกล่าวถึงบรรจุภัณฑ์ข้าวเพื่อขายปลีกที่มีน้ำหนักบรรจุตั้งแต่ 5 กิโลกรัม ลงมา เพราะเป็นขนาดที่นิยมสำหรับครอบครัวขนาดเล็ก ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มีหลากหลายทั้งรูปแบบและขนาดบรรจุ นอกจากเพื่อตอบสนองต่อการตลาดและเพิ่มมูลค่าแล้ว ยังช่วยเสริมหน้าที่ทางเทคนิค เช่น ยืดอายุการเก็บได้นานขึ้น ป้องกันมอดได้ ให้ความสะดวกในการใช้ เป็นต้น
ข้อมูลที่ต้องทราบในการออกแบบโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ข้าว ได้แก่
- สมบัติของข้าวที่จะบรรจุและสาเหตุของการเสื่อมคุณภาพ หรือไม่เป็นที่ยอมรับ
- วิธีการบรรจุ เช่น ใช้คน หรือ ใช้เครื่อง ความเร็วในการบรรจุ
- อายุการเก็บที่ต้องการ ข้าวที่ขายในประเทศไทยส่วนใหญ่กำหนดที่ 1 ปี
- จุดหมายปลายทาง วิธีการลำเลียงขนส่งและเก็บรักษา
- ขนาดบรรจุและลักษณะการวางขายในร้านค้า
- ตำแหน่งการวางสินค้าเชิงการตลาด (Product Positioning) ได้แก่ ระดับล่าง ปานกลาง สูง หรือเป็นของขวัญ ซึ่งมีผลต่อการตั้งราคาขายและรูปลักษณ์ภายนอก
- พฤติกรรมและวิถีชีวิตของกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายได้แก่ ปริมาณการบริโภคต่อครั้ง ความสะดวกที่ต้องการ เช่น ฉีกเปิดง่าย ปิดใหม่ได้
- กฎระเบียบของบรรจุภัณฑ์ในด้านสิ่งแวดล้อม เช่น บรรจุภัณฑ์ต้องสามารถรีไซเคิลได้







