บุญชัย เลาหะธีระพงษ์

สวัสดีปีใหม่ พ.ศ. 2564 แด่ผู้อ่านวารสารบรรจุภัณฑ์ไทยทุกท่าน สำหรับฉบับแรกของปีนี้ผมขอนำเสนอหัวข้อที่เกี่ยวกับนวัตกรรมรักษ์โลกและความยั่งยืนที่อยู่ในแวดวงการตกแต่งแพคเกจจิ้งอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ปีที่แล้วได้พูดถึงเรื่องนี้กันไปบ้าง ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาของฉบับนี้ ผมจะขอสรุปเนื้อหาที่ได้ตีพิมพ์ไปในปีที่แล้วเป็นหัวข้อสำคัญให้ดังนี้

• การใช้ Stamping Foil ไม่ว่าจะเป็น Hot Foil หรือ Cold Transfer ในการตกแต่งแพคเกจจิ้งให้มีประกายเหมือนโลหะ เป็นสีเมทัลลิกต่างๆนั้น ถือเป็นกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่มีพลาสติกผสมและติดลงไปบนชิ้นงานแพคเกจจิ้ง สามารถนำไปตีเยื่อเพือทำเป็นกระดาษรีไซเคิลได้
• สีและประกายเมทัลลิกของ Stamping Foil เกิดจากผงละอองอลูมิเนียม มีความบางเพียง 0.02 ไมครอน กล่องกระดาษที่ตกแต่งด้วย Stamping Foil ไม่ถึง 70% ของพื้นที่กระดาษทั้งหมด สามารถนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้
• PET Film ที่เป็นวัสดุเหลือจาก Stamping Foil จะอยู่ที่โรงพิมพ์หรือโรงงานแพคเกจจิ้งเท่านั้น และถูกเก็บทำลายอยู่ในรูปของขยะอุตสาหกรรม จะไม่หลุดไปถึงมือผู้บริโภคปลายทาง
ถึงแม้ว่า PET Film จะไม่ใช้ตัวปัญหาหลัก เพราะอยู่ในการดูแลของโรงงานและไม่ได้ถูกทิ้งลงไปในขยะครัวเรือน แต่ในวันนี้ผมมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ ที่เข้ามาช่วยจัดการเศษ PET Film นี้ รวมไปถึงการลดการใช้ PET Film ให้ได้มากที่สุด

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาทางบริษัท KURZ ที่ประเทศเยอรมันนีเพิ่งเปิดตัวโครงการ PET Recycle Program ที่ใช้เวลามานานกว่าห้าปีคิดค้นจนสำเร็จและเริ่มใช้งานทดลองกับลูกค้ารายหนึ่งในประเทศเยอรมนี โครงการ PET Recycle Program นี้คือการนำม้วน Stamping Foil ที่ใช้แล้วกลับมาจากลูกค้า มาที่โรงงานรีไซเคิลของ KURZ ซึ่งถูกสร้างขึ้นใหม่โดยวัตถุประสงค์เฉพาะที่จะนำ Stamping Foil ที่ใช้แล้ว (องค์ประกอบหลักคือ PET Film) มาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลให้ฟิล์มกลับมาเป็นเมล็ดพลาสติกอีกครั้ง

เม็ดพลาสติกที่ได้จากกระบวนการนี้สามารถนำมาฉีดเป็นชิ้นงานพลาสติกได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ในปัจจุบันนั้นคุณภาพหรือสีสันของเมล็ดพลาสติกรีไซเคิลนี้ยังไม่สมบูรณ์นัก จึงนำมาใช้ฉีดเป็นชิ้นงานที่ไม่จำเป็นต้องสวยงามพิถีพิถันนัก อย่างเช่น ถาดพลาสติก ลังพลาสติก เป็นการนำเศษขยะเหลือใช้จากการผลิตแพคเกจจิ้งประเภทหนึ่ง กลับมาผลิตเป็นแพคเกจจิ้งอีกประเภทหนึ่ง


และในช่วงเริ่มต้นนี้ทาง KURZ ได้ฉีดเม็ดพลาสติกนี้ ออกมาเป็นถาดรองแก้วอีกด้วย เพื่อใช้เป็นของที่ระลึกให้กับลูกค้า เพื่อสื่อสารและเน้นย้ำให้เห็นถึงเจตนารมย์อันแน่วแน่ที่จะพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยให้การตกแต่งแพคเกจจิ้งนั้นยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ควบคู่กับกระบวนการที่จะนำเศษวัสดุฟิล์มพลาสติกนี้กลับมารีไซเคิล ทาง KURZ เองได้พัฒนา Stamping Foil ตัวใหม่ที่ลดการใช้งาน PET Film (ที่ทำหน้าที่เป็น Carrier foil) ซึ่งโดยปกติมาตรฐานอุตสาหกรรมทั่วโลกแล้ว Stamping Foil จะใช้ PET Film ที่หนา 12 ไมครอน แต่ทาง KURZ กำลังจะเริ่มไลน์สินค้าใหม่ที่ใช้ PET Film หนาเพียง 10 ไมครอน แต่ยังคงสเป็คและคุณสมบัติที่ดีของ Stamping Foil ไว้เช่นเดิม และขณะนี้เริ่มขายในบางประเทศเรียบร้อยแล้ว

การลดความหนาของ PET Film ลงถึง 17% นี้นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกลงแล้ว สำหรับโรงงานแพคเกจจิ้งที่ใช้ Stamping Foil ที่บางลงนี้ยังสามารถใช้ม้วนฟอยล์ได้ยาวขึ้น ลดการหยุดเครื่องจักร ประหยัดต้นทุนได้ส่วนหนึ่ง

สำหรับวงการแพคเกจจิ้งในประเทศไทยนั้น กำลังอยู่ในขั้นทดลองที่จะใช้ Stamping Foil ที่หนา 10 ไมครอนนี้กันอยู่ และคาดว่าจะเริ่มใช้จริงได้ภายในปีใหม่ 2564 นี้




