สมชนะ กังวารจิตต์

ในปีที่แล้ว ค.ศ. 2020 Prompt Design บริษัทออกแบบบรรจุภัณฑ์ของไทย สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย โดยคว้า 3 รางวัลจากการประกวดออกแบบบรรจุภัณฑ์ของโลกอย่าง Dieline Awards หลาย ๆ ท่านคงจำกันได้กับผลงานที่โด่งดังอย่างเช่น บรรจุภัณฑ์ข้าวศรีแสงดาวที่ทำมาจากแกลบ น้ำแร่ดอยช้างที่เล่าเรื่องผ่านเส้นกราฟิกเก๋ ๆ และน้ำผึ้งของสุภาที่ใช้วัสดุ Honeycomb Core Paper
ในปีนี้มีคนส่งผลงานมากกว่า 1,600 ผลงาน จาก 28 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ เท่าที่รางวัลนี้ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 ส่วน Criteria ในการตัดสินนั้นประกอบไปด้วย Creativity (ความคิดสร้างสรรค์) Marketability (ความสามารถในการทำตลาด) Innovation (เรื่องนวัตกรรม) Execution (แนวทางการปล่อยของ) และ On-Pack Branding (การสร้างแบรนด์บนบรรจุภัณฑ์) ในผลงานทั้งหมดจะต้องผ่านการวิจารณ์ และการประเมินอย่างเข้มงวดถึงสองรอบ
หลังจากการประกาศผลรางวัลที่ผ่านมาหมาด ๆ ในปีนี้ การประกวด Dieline Award 2021 บริษัท Prompt Design ก็ยังพยายามสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศอย่างเช่นเคย โดยคว้ารางวัลที่ 1 จำนวน 3 รางวัล ถือว่าเป็น Super Hattrick เลยก็ว่าได้
วันนี้ผมเลยอยากที่จะมาแบ่งปันแนวคิดของทั้ง 3 รางวัลชนะเลิศของโลก จะเป็นอย่างไรเดี๋ยวไปดูกัน
มาเริ่มต้นรางวัลแรกกันเลย เป็นรางวัลที่ 1 ของโลกในหมวดหมู่ HOUSEHOLD MAINTENANCE
ในตลาดเทียนนั้นมีคู่แข่งขันในตลาดมากมาย หลากหลาย Segment ในแง่บรรจุภัณฑ์ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้แตกต่างเหมือนกัน
G Candle Co. เป็นผู้ผลิตคอลเลกชันเทียนหอมเป็น Small Batch ที่มีกลิ่นหอมเป็นธรรมชาติและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งกระบวนการผลิตที่พิถีพิถันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนที่ประณีตที่ Craft และทำด้วยมือในทุก ๆชิ้น ซึ่งมีเสน่ห์มาก ๆ สำหรับผู้ที่ชื่นชอบสินค้าประเภททำด้วยมืออย่างแท้จริง
ในแง่การออกแบบบรรจุภัณฑ์….
เราจะทำอย่างไร ถึงจะสื่อสารจุดเด่นเหล่านี้ออกมาผ่านบรรจุภัณฑ์ได้?
เราจึงเลือกใช้ไม้เพื่อสื่อสารความเป็นธรรมชาติ และใช้เทคนิคที่สื่อสารความ Craft ด้วยการจุ่ม Wax Seal ให้มีลักษณะคล้ายกับการหยดของเทียน ซึ่งแต่ละชิ้นการหยดที่เยิ้มไปด้านข้างของน้ำแว็กก็จะไม่เหมือนกัน ถือเป็นเสน่ห์ของงานมาก ๆ ทั้งยังสามารถประยุกต์ด้วยการผสมสีของแว็กต่าง ๆ หรือเปลี่ยนสีของไม้ให้ดูมีความหลากหลายขึ้นอีกก็ทำได้ ทั้งหมดนี้มันจะสื่อสารถึงแก่นของความ Craft ในทุก ๆ ชิ้นของแบรนด์นี้เลยทีเดียว ส่วนด้านบนของบรรจุภัณฑ์จะใช้ Wax Seal Stamp ปั๊มตราของแบรนด์เสริมความพิถีพิถัน
ส่วนโลโก้ของแบรนด์นั้นจะถ่ายทอดอักษรตัว G ลดทอนและสื่อสารผ่านการออกแบบของไฟเทียนได้อย่างลงตัว
มาต่อที่รางวัลที่ 1 อีกเช่นกัน ในหมวดหมู่ WATER
รางวัลที่ 1 อีกผลงานเป็นน้ำดื่มแบรนด์ C2 Water No Label ที่เริ่มต้นมาจากพวกเราเก็บข้อมูลในมุม Consumer Insight ของผู้บริโภคมาแล้วพบว่าการทำขวดน้ำดื่มที่ไม่มีฉลากนั้น จะเกิดปัญหาทั้งหมดอยู่ 2 อย่าง ก็คือ
- ตำแหน่งรายละเอียดข้อมูลทางโภชนาการและส่วนผสมต่าง ๆ ตามกฎหมาย และรายการบาร์โค้ดที่จะต้องใช้ในระบบพวกห้างต่าง ๆ
- ผู้บริโภคเห็นว่าเป็นความคิดที่ดี แต่ดีไซน์ที่ไม่มีฉลากนั้นดูเสมือนว่า มันเป็นเพียงการลดต้นทุนและปลอมตัวมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม มันดูไม่คุ้มค่ากับเขาเลย
พอเราเข้าใจถึง Consumer Insight แล้วเราจึงมาใช้ดีไซน์ในการแก้ปมปัญหาของทั้ง 2 เรื่อง คือ
1.เรานำข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นตามกฎหมายมาใส่บนตัวขวดด้วยวิธีการปั๊มนูน Emboss และเรานำบาร์โค้ดมาสกรีนลงบนฝาขวด
- เราเจตนาที่จะสร้างลวดลายให้สวยงามเป็น Collection ต่าง ๆ และเล่าเรื่องถึงผลกระทบที่ได้จากการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยนำเอาสัตว์ต่าง ๆ ที่มีความสุขท่ามกลางธรรมชาติที่ดีของพวกเขา ทั้งบนบก ในทะเล บนท้องฟ้า และในหิมะ เช่น กวางที่อยู่ในป่าที่อุดมสมบูรณ์ หมีขาวที่อยู่ในพื้นที่ที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ มาเล่าเรื่องผ่านลวดลายปั๊มนูนบนขวดน้ำที่น่าสนใจมาก ๆ
มันถูกออกแบบมาสำหรับขวดน้ำที่ไม่มีฉลากโดยเฉพาะ อีกทั้งยังลดความซับซ้อนในการคัดแยก และการรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์หลังจากดื่ม บรรจุภัณฑ์นี้ทำจากวัสดุ PET รีไซเคิล 100% นับเป็นก้าวที่ดีของเรื่องสิ่งแวดล้อม
ชื่อของแบรนด์น้ำดื่ม C2 มีที่มาจาก See Through หรือ Circular Economy + 2gether สะท้อนถึงภารกิจที่ต้องดำเนินการของแบรนด์นี้
ส่วนผลงานต่อไปที่ได้รางวัลที่ 1 จากหมวดหมู่ CONCEPTUAL
เป็นรางวัลที่ 1 จากแบรนด์ B.O.Cal ยาแคลเซียมซิเตรท โดยพวกเราตั้งคำถามและต้องการทำบรรจุภัณฑ์ยาให้สื่อสารกับผู้บริโภคให้ได้ทราบถึงข้อดีและคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์โดยไม่ทำให้เขากลัวและกังวล
พวกเราใช้การออกแบบที่สมดุลอย่างรอบคอบและพิถีพิถัน ซึ่งจะถ่ายทอดคุณสมบัติทางยาของผลิตภัณฑ์ โดยจะสร้างรูปลักษณ์โดยรวมให้รู้สึกเป็นมิตร เข้าใจง่าย เราตัดสินใจออกแบบรูปทรงของขวดอาหารเสริมแคลเซียมใหม่ที่เน้นไปถึงผลลัพธ์ของผลิตภัณฑ์ โดยลักษณะของขวดจะเป็นรูปทรงข้อกระดูก และสามารถจะต่อซ้อนกันเป็นรูปทรงของกระดูกสันหลัง เพื่อเสริมพลังในการสื่อสารได้อย่างดียิ่งขึ้น และยังช่วยส่งเสริมการขายได้ดีอีกด้วย
ส่วนรายละเอียดของโลโก้นั้นเป็นการลดทอนสัญลักษณ์ที่นำเสนอการเชื่อมโยงของกระดูกโดยให้มีความโค้งของกระดูกสันหลัง ผ่านการเรียงจุดต่างๆ และ ตัวอักษร
และทั้งหมดนี้คือแนวคิดเบื้องต้นดี ๆ ที่อยากจะเอามาแบ่งปันเพื่อน ๆ ครับ