โดย สมชนะ กังวารจิตต์
เรื่องราวที่ผมจะแชร์ต่อไปนี้น่าจะเป็นเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ในวงการออกแบบ โดยผมจะสรุปเป็นข้อ ๆ จากประสบการณ์ประกวดออกแบบทั้งหมดของผมที่ได้รับรางวัลการออกแบบระดับโลกใกกว่า 129 รางวัล ได้ Best of the Best 11 ครั้ง จากประมาณ 25 สถาบัน ทั้งหมดนี้มาเพื่อขมวดเป็นแนวคิดว่า วิธีการทำงานประกวดให้ชนะนั้นผมมีเทคนิคแนวความคิดยังไง
1.ผมจะศึกษากรรมการแต่ละคน: ตรงจุดนี้ต้องยอมรับว่า กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละท่านนั้นล้วนเป็นตัวแทนจากทุกทวีปของโลก แต่ละท่านมีประสบการณ์ และชอบสไตล์งานที่หลากหลาย บ้างก็อาจจะชอบงานคราฟท์ในทุก ๆ มิติ บ้างก็ชอบงานภาพประกอบ บ้างก็ชอบงานเรียบง่าย บ้างก็ชอบงานที่เป็นแบรนด์ใหญ่คับโลก…ตรงนี้ผมจะพยายามศึกษาเข้าไปดูว่าแต่ละท่านมีรสนิยมแบบไหน และในปีนั้นนํ้าหนักเทไปทางไหน ตรงนี้ผมจะนำมาทำการบ้านอย่างเข้มข้นเลยครับ…
2.ดีไซน์ ต้องเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน: ปฎิเสธไม่ได้ครับว่า ดีไซน์นั้นเป็นภาษาหนึ่งในโลกจากประสบการณ์ของผมที่ได้มีโอกาสถูกรับเชิญไปเป็นกรรมการในการตัดสินมากว่า 17 สถาบัน สิ่งที่กรรมการจะสแกนภาพรวมก่อน คือดูแล้วเข้าใจมั้ย ดังนั้น ถ้าแนวคิดอะไรที่ซับซ้อนมาก ๆ กรรมการจะมีโอกาสมองข้ามไปอย่างง่าย ๆ เพราะงานที่กรรมการแต่ละท่านจะต้องให้คะแนนมันมีเป็นหลายพันผลงาน
3.ถ้าจะเป็นเลิศในงานต้องเป็นประเด็นที่โลกนี้มองหาอยู่: สมมติผมอยากได้รางวัลพวก ชนะในชนะ หรือ Best of the Best ในวงการออกแบบ ผมจะต้องมองข้าม Shot ไปอีกขั้นหนึ่ง และวิเคราะห์ว่าจริง ๆ แล้ว ประเด็นงานออกแบบแนวโน้มไหนในโลกที่เขาตามหาอยู่ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น บรรจุภัณฑ์ข้าวศรีแสงดาว เริ่มต้นถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 ซึ่งในช่วงเวลานั้นกระแสโลกในมุม Sustainability แค่กำลังเริ่ม ๆ มาเท่านั้นเอง ประจวบเหมาะกับโรงงานศรีแสงดาวทำเรื่องสิ่งแวดล้อมในเชิงโรงงานอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้เราเริ่มคิดและพัฒนาลองผิดลองถูกอยู่ประมาณเกือบ ๆ 2 ปี กว่าจะได้คุณสมบัติของบรรจุภัณฑ์ที่แข็งแรงได้ตามที่พวกเราต้องการ… จนสุดท้ายผลิตออกมาจริงและส่งงานประกวด เรียกได้ว่าชนะเลิศในทุก ๆ สถาบันของโลก แบบเป็นประวัติศาสตร์ของวงการออกแบบเลย
4.ต้อง Craft รายละเอียดในทุก ๆ ด้าน: ในทุก ๆ การแข่งขันของโลก ยิ่งในมุมของการออกแบบที่มีแต่ผลงานดี ๆ ทั้งนั้นมาส่งประกวด การที่จะได้รางวัลอะไรก็ตามนั้น บางทีมันจะเฉือนกันแบบที่เรียกว่า คะแนน หรือครึ่งคะแนนเลย รายละเอียดที่กรรมการมักจะมองหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลโก้ ตำแหน่งของการวางข้อมูล ความใส่ใจในคำทุก ๆ คำ เทคนิคการพิมพ์ วัสดุที่เลือกใช้ และเทคนิคเสริมอื่น ๆ สิ่งเหล่านี้ไม่ควรละเลยนะครับ
5.ต้องเขียนบรรยายได้อย่างสละสลวย: คำอธิบายถือเป็นสาระสำคัญ เพื่อให้กรรมการนั้นสามารถเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ ที่เราอยากนำเสนอให้ชัดมากขึ้น คำที่ใช้นั้นส่วนมากจะใช้คำที่ไพเราะ สละสลวย พรรณนาถึงขนาดมีบริษัทที่รับจ้างเขียนคอนเซ็ปต์งานประกวดกันเป็นกิจจะลักษณะเลย ลองคิดดูว่าสำคัญแค่ไหน…
6.ภาพพรีเซนต์ต้องมาเต็ม: ตรงจุดนี้ถือว่าต้องทำ การบ้านเพิ่มนอกจากการทำ ชิ้นงาน เพราะการพรีเซนต์องค์ประกอบของภาพเพื่อขับให้ชิ้นงานดูโดดเด่น เล่าเรื่องได้ชัดเจนบ่งบอกรายละเอียดเรื่องที่ต้องการจะเน้นนั้น มันจะช่วยให้กรรมการเข้าใจผลงานของเราได้อย่างง่ายและอินไปกับภาพที่เราจะสื่อสาร
7.ควรเป็น New Original Idea: การตามหา New Original Idea นั้นเป็นเรื่องไม่ง่าย นับวันดีไซเนอร์ทุกทวีปในโลกก็จะพยายามรังสรรค์ผลงานที่แปลกและแตกต่างอยู่เสมอ ๆ และแน่นอนที่สุดครับว่า คนที่คิด Original Idea และออกมาก่อนนั้นได้เปรียบ เพราะจะทำให้ตัวเลือกในการสร้างความแตกต่างนั้นมีน้อยลงเรื่อย ๆ ดังนั้นดีไซเนอร์ในยุคนี้ต้องทำงานหนักขึ้นอย่างมาก เพื่อที่จะควานหาไอเดียที่ใหม่และแตกต่างต่อไป
8.ลูกค้าของเราต้องเข้าใจทั้งหมดนี้: สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดของที่สุดคือ ลูกค้าต้องเข้าใจ 7 หัวข้อด้านบนที่ผมกล่าวมา ซึ่งมันยากที่สุด แต่ยังไงผมในฐานะตัวแทน ก็ขอส่งกำลังใจให้ดีไซเนอร์ทุก ๆ ท่านให้สร้างสรรค์ผลงาน เพื่อช่วยยกระดับวงการออกแบบของเราไปด้วยกันนะครับ


