โดย โชตินรินทร์ วิภาดา
บรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบหมุนเวียนหรือใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เป็น Business Model ที่น่าสนใจ
กระแสรักษ์โลกเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นกระแสที่ถูกผลักดันจากทุกประเทศ อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป (Global Warming) มีการดำเนินการหลายอย่างในการรักษาสิ่งแวดล้อม เริ่มจาก Recycle ใช้ Eco-Packaging หรือ Sustainable Packaging ขยายให้กว้างขึ้นเป็น BCG (Bioeconomy, Circular Economy, Green Economy), SDGs (Sustainable Development Goals) ซึ่งมีระดับการครอบคลุมแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบท ผมจึงขอนำเสนอที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับบรรจุภัณฑ์ตามแนวทางของ European Green Deal มาเป็นเกณฑ์ในการทำงานในเรื่อง Circular Packaging
บรรจุภัณฑ์ที่ใช้กันทั่วโลกเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ ขณะนี้สหภาพยุโรปมีการประกาศแผนการใช้ European Green Deal เพื่อจัดการกับสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรปให้มีสภาพที่มีความยั่งยืนมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ ขอสรุปย่อๆ
-ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเดิมร้อยละ 40 เป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50-55 ในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) และมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจปลอดคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050)
-มาตรการจัดเก็บภาษีด้านสิ่งแวดล้อมใน 5-10 ปีข้างหน้านี้ นอกจากส่งเสริมการรักษ์โลกแล้วยังได้เม็ดเงินมาใช้ในทางเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย
-ห้ามใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (EU Single-Use Plastics Directive : SUPD) ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) เช่น หลอดพลาสติก ช้อน ส้อม มีดและจานพลาสติก รวมถึงก้านสำลีที่แกนทำมาจากพลาสติก ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในปี พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) เช่นกัน



