เขียนโดย โชตินรินทร์ วิภาดา
เลขาธิการสมาคมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไทย (ThaiPDA) และกรรมการสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย (TPA)
CEO, 345 Provider Co., Ltd. End-to-End Packaging Transformation Consultant

ได้รับเกียรติมาเป็น Program Director วางแนวสัมมนาโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับ SME ภาคใต้ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ ช่วง Panel Talk ในหัวข้อ SME ไทย VS SME ญี่ปุ่น มี ลุงอ้า สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์ ผู้คร่ำหวอดในวงการพัฒนา SME ไทย และ อาจารย์เอ๋ ศุภเดช หิมะมาน หัวหน้าภาควิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งจบจากประเทศญี่ปุ่น เรา 3 คน พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันสนุกมากครับ จะขอเล่า Highlight ของไทยและญี่ปุ่นสลับกันไปมา ล้อมวงกันเข้ามาเลยครับ

ญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา SME ทำให้ประเทศมีความเจริญพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง
และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นักท่องเที่ยวต่างชื่นชอบในผลผลิตของ SME ญี่ปุ่น และจะต้องซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านกันเกือบทุกคน คุณก็เป็นหนึ่งในนั้น

คุมะมง หมีดำแก้มแดง เป็นตัวอย่างที่ดีมาก สามารถทำให้ชาวเมืองคุมะโมโตะมีความสุข มีรายได้มากขึ้น เนื่องด้วยมีนักท่องเที่ยว อยากมาชมคุมะมงจึงทำให้เศรษฐกิจของเมืองดีขึ้นอย่างมาก ทั้งมาเที่ยว มาพัก และซื้อสินค้า ถือได้ว่า คุมะมงเป็นพระเอกของเมืองคุมะโมโตะ คุมะมงมีตัวตนนะครับ 5555 (เขาถูกสร้างให้เสมือนเป็นจริง) มาทำความรู้จักกันครับ
คุมะมง เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2010 ใช้ในการประชาสัมพันธ์การเปิดตัวรถไฟชินคันเซนสายคิวชู เป็น Mascot ของจังหวัดคุมะโมโตะ(ชื่อ คุมะ แปลว่า หมี) คุมะมง เป็นข้าราชการจังหวัดคุมะโมโตะ มีตำแหน่งที่มันมาก คือ หัวหน้าฝ่ายการขายและกระจายความสุข ภารกิจหลัก คือ Surprise และ Happiness เพียงแค่บอกตำแหน่งและภารกิจ ก็อยากไปทำความรู้จักแล้วครับ

มีอีกตัวอย่างครับ น่ารักไม่แพ้กันเลย ฟูจิคุน Fuji Kyun ชื่อเต็ม Fujisawa Kyun

กำเนิด: คลื่นของฟูจิซาวะ เพศ: ไม่ระบุ
อายุ: ไม่ทราบ
เสน่ห์: หูเรือยอชท์
อาหารที่ชอบ: อาหารจากฟูจิซาวะ
ความสามารถพิเศษ: ถ่ายทอดเสน่ห์ของฟูจิซาวะ
สีของธีม: สีหยก
บุคลิก: ทันสมัย สบายๆ สงบ และร่าเริง
งานอดิเรก: เดินเล่นรอบ ๆ ฟูจิซาวะ

ยังไม่มี Mascot สำหรับ SME ไทยที่ชัดเจนที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้มาเยือนและเป็นความภูมิใจของ SME ในชุมชนจังหวัดนั้น ๆ หรืออาจจะมี ผมอาจจะตกหล่นไป รบกวนช่วยแนะนำกลับมาด้วยครับ การที่มี Mascot ประจำจังหวัด ทำให้ค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์สินค้าของ SME ลดลงมาก ๆ นอกจากทำให้ SME ภูมิใจในสินค้าของตนแล้วยังสร้างรายได้กลับสู่ SME ได้อย่างต่อเนื่องด้วยมีหลายชุมชนของ SME ไทยที่มีความพยายามทำให้บรรจุภัณฑ์สร้างความสนใจให้กับนักท่องเที่ยวด้วยการมี Mascot ดึงดูด สร้างภาพจำของผู้มาเยือน แต่ก็ไม่แพร่หลายไปในระดับภูมิภาค

ท่านผู้อ่านเห็นด้วยกับผมไหมว่า หากภาครัฐระดับจังหวัดช่วยกันสร้างภาพจำผ่านตัว Mascot ที่มีเอกลักษณ์ของจังหวัด โดยมีนโยบายการจัดการเพื่อให้ Mascot มีชื่อเสียงในระดับประเทศและสากล ลองมาดูเงื่อนไขการใช้ของคุมะมง
1) ยินยอมให้ทุกคนในญี่ปุ่นใช้ตัว Mascot แบบฟรี แต่ต้องลงทะเบียน (ดูสิแฟร์แค่ไหน)
2) ทำความร่วมมือกับผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง โดยผลิตภัณฑ์นั้นจะต้องมีการใช้วัตถุดิบของท้องถิ่น
3) การร่วมกิจกรรมให้เกิดความรักท้องถิ่น
4) การเผยแพร่สู่สากลตามสื่อ Online อย่างสม่ำเสมอ นำมาปรับใช้ในบ้านเรา เพื่อช่วยลดต้นทุนในการประชาสัมพันธ์ สร้างความภูมิใจของจังหวัดและประเทศได้

ใน EP 2 อุ่นเล่าเรื่องจะพูดถึงความสำเร็จในการนำอัตลักษณ์มาเพิ่มมูลค่าทั้งของไทยและญี่ปุ่น
หมายเหตุ : ภาพและข้อมูลมาจากทาง Internet และจากลุงอ้ากับ อจ.เอ๋ การเผยแพร่ครั้งนี้ไม่มีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นเพื่อวิทยาทานในการพัฒนา SME ไทย