โดย
โชตินรินทร์ วิภาดา
Plastic Packaging

พลาสติกเป็นวัสดุที่มีประโยชน์มากมายและมีข้อดีที่หลากหลาย แต่มีข้อเสียเรื่องการกำจัด ทำลาย ด้วยความไม่ดูแลอย่างเป็นระบบ หลังจากใช้แล้วปล่อยทิ้งขว้างจากผู้บริโภค ทำให้มีผลต่อสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องมา ซึ่งตอนนี้ผมจะขอเล่าเรื่องการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกโครงสร้างให้ผู้ประกอบการหรือผู้อ่านได้รับทราบและเลือกใช้ให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ของตนเอง
Selection การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกโครงสร้าง
ผู้ประกอบการควรตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกโครงสร้างที่เหมาะสมสำหรับผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีปัจจัยหลายประการที่ต้องพิจารณา ดังนี้
1. คุณสมบัติของบรรจุภัณฑ์
- ลักษณะทางกายภาพ เช่น ขนาด รูปร่าง น้ำหนัก
- ลักษณะการจัดเก็บและการขนส่ง เช่น ระยะเวลา สภาพแวดล้อม การซ้อนจัดเก็บ
- อายุของบรรจุภัณฑ์
2. ประสิทธิภาพการป้องกัน
- คุณสมบัติเฉพาะของบรรจุภัณฑ์ ที่มีความสามารถในการป้องกัน เช่น ความชื้น ความร้อน แสง ความเย็น แช่แข็ง
- การป้องกันความเสียหายจากแรงกระแทก แรงกด หรือแรงเฉือน
- การป้องกันสิ่งปนเปื้อนจากฝุ่น เชื้อโรค หรือสารเคมี
- การรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้คงที่ระหว่างการขนส่ง
3. ข้อกำหนดทางกฎหมายของไทยและสากล
- กฎระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานสำหรับบรรจุภัณฑ์
- ข้อกำหนดด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม
4. การนำไปใช้
- ความสะดวกในการจัดเก็บ การขนย้าย และการจัดจำหน่าย
- ความง่ายในการเปิดและปิดบรรจุภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค
- ป้องกันการเปิดจากเด็ก ป้องกันการปลอมแปลง
5. การตลาดและการออกแบบ
- การออกแบบสวยงาม ดึงดูดลูกค้า และแสดงข้อมูลผลิตภัณฑ์
- การผสมผสานกับกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัท
6. ต้นทุนและความคุ้มค่า
- ราคาวัสดุ ต้นทุนการผลิต การขนส่ง และการกำจัด
- ความคุ้มค่าในระยะยาวจากการประหยัดต้นทุนที่เกิดจากการลดความเสียหาย
การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกโครงสร้างที่สมดุลระหว่างคุณสมบัติและต้นทุนจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปกป้องผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความสูญเสียจากความเสียหายและดึงดูดลูกค้าได้อย่างดีที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มยอดขายและผลกำไรให้กับธุรกิจในระยะยาว
Limitation ข้อจำกัด
การใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกโครงสร้าง (Structural Plastic Packaging) นั้นมีข้อจำกัดหลายประการ ดังนี้
1. ข้อจำกัดด้านวัสดุ
- บางประเภทของพลาสติกอาจไม่เหมาะสมกับบางผลิตภัณฑ์ เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง เนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยากับสาร
- พลาสติกบางชนิดอาจไม่ทนทานต่อความร้อนหรือแรงกระแทกได้
2. ข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ
- ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เช่น การรั่วไหล การปนเปื้อน
- ข้อจำกัดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกบางประเภท เช่น พลาสติกพวก PVC อาจถูกจำกัดการใช้
3. ข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม
- บางประเภทของพลาสติกยากต่อการรีไซเคิล นำไปสู่ปัญหาขยะพลาสติก
- กระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกบางชนิดอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
4. ข้อจำกัดด้านต้นทุน
- วัสดุบรรจุภัณฑ์พลาสติกบางชนิดมีราคาสูง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
- กระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกบางแบบอาจมีความซับซ้อนและต้นทุนสูง
5. ข้อจำกัดด้านการออกแบบและการพิมพ์
- บางบรรจุภัณฑ์พลาสติกมีข้อจำกัดในการออกแบบและพิมพ์รูปแบบบนบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างจุดขาย
ดังนั้น การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกโครงสร้างจึงต้องคำนึงถึงข้อจำกัดเหล่านี้ เพื่อหาวัสดุและแบบที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ คุ้มค่าการลงทุน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
Analysis บทวิเคราะห์
เรามาวิเคราะห์กันครับ ขอยกตัวอย่างจากบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กันอยู่ทุกวัน คือ




กล่องใส่อาหารส่วนมากผลิตจาก PP Polypropylene ทนความร้อนได้สูงสุดประมาณ 120-135 องศาเซลเซียส โดยไม่เกิดการเสียรูปหรือหลอมละลายและทนความเย็นได้ต่ำสุดประมาณ -20 ถึง -40 องศาเซลเซียส โดยไม่เปราะหรือแตกหัก ก็มีทำมาจากวัตถุดิบ Polystyrene หรือ PET แล้วแต่การใช้ ความต้องการที่เห็นสินค้าภายในโครงการสร้างความแข็งแรงมาจากการออกแบบให้มีความลาดชันของผนังกล่องคือ ปากกว้างก้นแคบ ช่วยให้ผลิตได้ง่ายขึ้น สามารถรับแรงกดจากด้านบนได้ดี ลองดูตอนใส่อาหารแล้ว วางซ้อน ๆ กันในตู้เย็น และด้วยเทคโนโลยีทำให้ความหนาของผนังกล่องบางมาก เรียกกันว่า Thin Wall เพื่อลดต้นทุน แต่ยังแข็งแรง กล่อง PP นี้ยังสามารถพิมพ์ลวดลายสีตามที่ต้องการ และมีเทคนิคการพิมพ์ลวดลายโดยเป็น IML In-mold Labeling คือ คล้ายฟิล์มมาห่อหุ้ม โดยใช้ความร้อนจากแม่พิมพ์ในการเชื่อมภาพกับตัวกล่อง อย่างกระป๋อง Pop Corn หน้าโรงหนัง (ส่วนตัว Fixture ตัวการ์ตูนหรือตัว Hero ของหนัง ทำจาก Elastomer ผลิตด้วยวิธี Rotation Mold) กล่องใส่แบบใช้แล้วทิ้งจะมีผนังที่เป็นลอนคือ มีโครงการสร้างให้ความแข็งแรง เนื่องจากมีความหนาบางมาก ด้วยกรรมวิธีผลิตเป็นแบบ Vacuum Forming Process ส่วนกล่องใส่อาหารตามรูป ผลิตด้วยวิธี Injection Process ซึ่งมีความแข็งแรงมากกว่าและยังมีอีกแบบหนึ่งที่มีความหนามากกว่านี้ ทำให้เกิดความทนทานขึ้น เพื่อใช้งานได้หลายครั้ง คงเคยเห็นกล่องใส่อาหาร Tupperware, Superware กันมาบ้าง

คงเคยเห็นน้ำหอมในรถยนต์แบรนด์นี้ใช่ไหม ความแข็งแรงของพลาสติกตัวข้างในมาจากรูปทรงที่ออกแบบฝาครอบให้เหมือนหยดน้ำ เป็น 2 ฝาประกบกัน ทับตัวขวด ลวดลายที่เกิดขึ้นทำด้วยวิธีการตกแต่งด้วยฟิล์มลอยน้ำ การตกแต่งลวดลายด้วยวิธีนี้ ลวดลายแต่ละชิ้นจะไม่เท่ากันมาก ดังนั้นลวดลายจะเป็น Pattern ไม่เป็นเส้นตรง หรือมีข้อความ ส่วนบรรจุภัณฑ์เป็นแบบ Vacuum Forming Process ปั๊มนูนให้เข้ากับรูปทรงสินค้า บรรจุภัณฑ์เรียกว่า Blister Pack ซึ่งปกติจะมีแผ่นกระดาษพิมพ์เรื่องราวของสินค้า สรรพคุณของสินค้า มีแบบตั้งเองบนชั้นวางได้ หรือมีรูสำหรับแขวนโชว์ขาย รวมถึงอุปกรณ์ช่าง Hardware อะไหล่ ส่วนมากจะใช้ Blister Pack ก็มาก ด้วยความแข็งแรงทนทาน

ลัง 2 สี ทำไมต้องผลิตเป็นลัง 2 สี ทั้ง ๆ ที่ต้นทุนการผลิตสูงกว่าการผลิตสีเดียวมาก ลังอุตสาหกรรมนี้วัตถุดิบการผลิตเป็น HDPE แบบเดียวกับที่ผลิตถังขยะ มีคุณสมบัติคงทน ไม่แตกง่าย วางซ้อนกันก็ไม่เสียรูป ส่วนมากใช้ในไลน์การผลิต ผนังลังด้านในเรียบ เพื่อให้ใส่สินค้าได้เต็มที่ เส้นโครงสร้างความแข็งแรงจึงอยู่ด้านนอกลัง มีการออกแบบลังให้ซ้อนกันได้ เพื่อประหยัดพื้นที่ หากต้องการใส่ของและต้องซ้อนกันก็จะกลับด้าน ด้วยมีการออกแบบ Stopper ที่ด้านกว้างของลังหรือด้านที่มีมือจับที่ใช้ยก ทำให้ซ้อนกันโดยไม่ทับสินค้าในลัง มาตอบคำถามว่าทำไมต้อง 2 สี เมื่อใช้งานเสร็จต้องการวางซ้อนเพื่อประหยัดพื้นที่ หากเป็นลังสีเดียว เวลาซ้อนกันจะดูว่าอยู่ด้านไหน ทำให้เสียเวลา แต่เมื่อเป็น 2 สี จะดูว่าหันไปวางสีสลับกันจะได้ซ้อนกันได้เร็ว ประหยัดเวลาไปมาก



มีการออกแบบลังผนังตั้งตรง เพื่อต้องการใส่สินค้าได้เต็มที่ แต่ต้องแลกกับการซ้อน เพื่อประหยัดพื้นที่ จะเห็นได้ว่ามีเส้นพลาสติกโครงสร้างอยู่นอกลัง

ลังใส่ขวดน้ำอัดลม ลดความนิยมลงด้วยลังประเภทนี้เหมาะกับการใส่ขวดแก้ว ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นขวดพลาสติก แล้วใช้ ฟิล์มหดรัดเป็น 6 ขวด หรือ 12 ขวด จะเห็นได้ว่าสามารถจับหรือยกลังได้ทุกด้าน

ขวดน้ำดื่มพลาสติก ความแข็งแรงมาจากผนังที่มีรอยหยัก ไม่ว่าจะเป็นเกลียวเป็นชั้น ๆ หรือเป็นสเต็ป นอกจากสร้างความแข็งแรงแล้วยังเป็นตัวกันลื่น จับขวดได้กระชับขึ้น ส่วนมากออกแบบเป็นทรงกระบอก ด้วยการที่ขึ้นรูปง่ายกว่าทรงสี่เหลี่ยม ผนังของมุมเหลี่ยมจะไม่แข็งแรงมากนัก
หวังว่าคงพอเห็นภาพ หากมีคำถามหรือมีข้อมูลอื่น ๆ สามารถติดต่อผมได้ทาง E: chodnarinv@gmail.com ครั้งหน้าผมอยากจะแชร์เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องการพฤติกรรมผู้บริโภค ไว้เจอกันครับ
บทความของวารสารบรรจุภัณฑ์ไทยไม่ได้มีเพียงเท่านี้ พวกเรายังมีเรื่องราวที่น่าสนใจให้ติดตามในเล่มอีกเพียบ อ่านต่อกันได้ที่ >> E-BOOK #165