
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาและวิจัยสายพันธุ์มะขามป้อม เพื่อการแปรรูปผลิตเป็นสินค้าที่เต็มไปด้วยคุณประโยชน์มากมาย อาทิ ช่วยลดการสะสมแคดเมียมในร่างกาย จากการดำเนินโครงการการศึกษาการเขตกรรม พร้อมส่งเสริมการปลูกและการผลิตผลิตภัณฑ์จากมะขามป้อมในการปลูกเป็นการค้า ภายใต้แผนงานการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์มะขามป้อมเชิงพาณิชย์

มะขามป้อม เป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง และมีคุณค่าทางสมุนไพร มีรสฝาด เปรี้ยว ขม และอมหวาน โดยทั่วไปนิยมรับประทานผลสดมะขามป้อม และนำมาแปรรูปเป็นอาหาร อาหารเพื่อสุขภาพ เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางและยาสมุนไพร เนื่องจากมีสารแทนนิน (Tannin) และวิตามินซีสูง โดยปริมาณแทนนินและวิตามินซีจะแตกต่างกันไปในแต่ละสายพันธุ์ โดยจะพบแทนนินทั้งในลำต้นและผลของมะขามป้อม
โดย วว. ได้ดำเนินโครงการการศึกษาและรวบรวมมะขามป้อมจากจังหวัดนครราชสีมา กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยได้ดำเนินการปลูกและรวบรวมสายพันธุ์ไว้ ณ สถานีวิจัยลำตะคอง วว. อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา มาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ประสบผลสำเร็จในการคัดเลือกและรวบรวมสายพันธุ์มะขามป้อมได้มากกว่า 26 สายพันธุ์ และพัฒนาให้มีผลขนาดใหญ่ ปริมาณเนื้อมาก ซึ่ง วว. ได้ทำการศึกษาและพบว่า มะขามป้อมทั้ง 26 สายพันธุ์ มีปริมาณสารแทนนินในผลปริมาณสูงระหว่าง 145.4±9.6 – 445.9±8.4 mg/gDW มีความเหมาะสมในการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จึงส่งเสริมให้มีการปลูกมะขามป้อมพันธุ์ดี เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมในแต่ละอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ “สารแทนนิน” เป็นสารที่พบได้ในพืชที่มีรสฝาด โดยทั่วไปร่างกายจะได้รับจากการกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแทนนินเป็นส่วนประกอบ มีคุณสมบัติเด่น คือ ช่วยลดปริมาณแคดเมียมในร่างกายได้ โดยการรวมตัวกับ แคดเมียม (Cadmium: เป็นโลหะหนัก หากร่างกายได้รับและมีการสะสมเป็นระยะเวลานาน สามารถทำอันตรายสมองได้ ทำให้เกิดโรคมะเร็งในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น มะเร็งปอด ต่อมลูกหมากและไต เป็นต้น) ให้อยู่ในรูปของคีเลท (Celate: สารที่มีโครงสร้างเป็นวงแหวน) ซึ่งจะถูกขับออกจากร่างกายได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้แทนนินยังมีคุณสมบัติในการเพิ่มฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและเพิ่มภูมิคุ้มกัน มีส่วนช่วยในการปรับปรุงระบบการย่อยไนโตรเจน ช่วยให้ลดปริมาณไนโตรเจนที่ขับออกจากร่างกาย และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ไนโตรเจนของร่างกาย
ดังนั้น แทนนินจากมะขามป้อม จึงเป็นสารที่มีคุณสมบัติที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และแก้ไขปัญหาเพื่อลดปริมาณแคดเมียมที่ได้รับและสะสมในร่างกาย รวมทั้งการนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเพื่อลดปริมาณแคดเมียมที่ปนเปื้อนได้
นอกจากนี้ วว. ยังได้เพิ่มมูลค่ามะขามป้อม โดยการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและสกัดสารสำคัญโดยนำมาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จุดเด่นของผลิตภัณฑ์โดยรวม คือ มีส่วนผสมของสารสกัดผลมะขามป้อมและสารสกัดผลมะแขว่นในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มฤทธิ์ชีวภาพของสมุนไพรให้แก่ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสในกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานิน ฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ และฤทธิ์ต้านอักเสบ ดังนี้

- ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ วว. ดำเนินงานภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจากมะขามป้อม ประสบผลสำเร็จวิจัยและพัฒนา 5 ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะขามป้อม อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ วิตามินซี สารแทนนิน พอลิฟีนอล ฟลาโวนอยด์ และสารออกฤทธิ์ชีวภาพอื่น ๆ ที่มีสรรพคุณในการบำรุงร่างกาย ช่วยแก้หวัด ลดไข้ แก้ไอ และขับเสมหะ ได้แก่ 1) มะขามป้อมแช่อิ่ม 2) มะขามป้อมลอยแก้ว 3) มะขามป้อมแผ่น 4) กัมมี่มะขามป้อม และ 5) น้ำไซเดอร์มะขามป้อม

- ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. ดำเนินงานภายใต้โครงการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากมะขามป้อม ประสบผลสำเร็จวิจัยและพัฒนา 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์เวชสำอาง Emsoftra® คือ ผลิตภัณฑ์สำหรับผิว สำหรับผม และสำหรับช่องปาก
โดยผลวิจัยของ วว. พบว่า เมื่อนำสารสกัดเอทานอล-น้ำ จากผลมะขามป้อมมาผสมกับสารสกัดผลมะแขว่นในสัดส่วนที่ได้จดสิทธิบัตรไว้แล้ว จะช่วยเพิ่มฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ของสารสกัด และทำให้ได้สารสกัดสมุนไพรผสมที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสในกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานิน และมีฤทธิ์ต้านอักเสบที่ดี ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่ วว. พัฒนาขึ้นนั้น มีคุณสมบัติโดดเด่นและแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ท้องตลาด ตอบโจทย์ผู้บริโภคเกี่ยวกับการบำรุงผิว บำรุงผม ต้านจุลินทรีย์และต้านอักเสบ นอกจากนี้ด้วยฤทธิ์ต้านอักเสบที่ดีของสารสกัดสมุนไพรยังช่วยให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับผิวที่แพ้ง่ายด้วย
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า “มะข้ามป้อม” มีประโยชน์ที่หลากหลาย ทั้งในด้านโภชนาการและการใช้สารสกัดเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่ง วว. นั้นมุ่งวิจัยและพัฒนาสารสกัดของมะขามป้อม เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ต่อไป และเพื่อสนับสนุนนโยบายการนำทรัพยากรชีวภาพในประเทศมาใช้ให้เกิดคุณค่าสูงสุดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและพาณิชย์ อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
วว. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากมะขามป้อมสู่เชิงพาณิชย์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 E-mail: marketing_tistr@tistr.or.th หรือที่ “วว. JUMP”