
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เตรียมนำร่อง 10 กิจการของผู้ประกอบการ SMEs ไทยที่สำเร็จผลจากโครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ภายใต้กลยุทธ์การปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) ให้สามารถพัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลกต้นทุนการใช้พลังงาน ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ภายในสถานประกอบการโดยมุ่งเน้นการนำเศษวัสดุเหลือใช้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่มูลค่าสูง (Upcycling) ตลอดจนสามารถบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือให้เป็นกลไกสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้ลงทุนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้กว่า 60 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคอุตสาหกรรมได้มากกว่า 2,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี พร้อมเตรียมเปิดตัวโครงการปี 2567 ในเดือนมิถุนายนนี้

ภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงและความผันผวนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรภาวะเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ รวมถึงภาวะโลกเดือด ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นจนเกินสมดุล โดยประเทศไทยได้แสดงจุดยืนประกาศเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้รัฐบาลเร่งหาแนวทางเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมไทย โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่รูปแบบใหม่ (BCG Model) ซึ่งจะช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมในอนาคต
“กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความสำคัญในการเดินหน้าส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อให้สามารถยืนหยัด รับมือ และปรับตัวให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง ภายใต้นโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ผ่านกลยุทธ์การปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) โดยมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้ปรับตัวได้เท่าทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการสร้างการเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model ผ่านโครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตให้มิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนการใช้พลังงาน ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ภายในสถานประกอบการโดยมุ่งเน้นการนำเศษวัสดุเหลือใช้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่มูลค่าสูง (Upcycling) โดยที่ผ่านมาสามารถนำร่องและยกระดับผู้ประกอบการจำนวนกว่า 10 กิจการ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 60 ล้านบาท และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้แล้วมากกว่า 2,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย รวมถึงบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือให้เป็นกลไกสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้ลงทุนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป” ภาสกร กล่าว
โดยผลงานธุรกิจ SME ที่ได้รับการพัฒนาระหว่างปี 2565 – 2567 ได้แก่

- Pleat Glamping chair โดย Kunakij furniture industry เก้าอี้สำหรับใช้งานกลางแจ้งและภายในภายใต้แนวคิดการออกแบบที่เน้นความต้องการผู้บริโภคที่ต้องการความสบาย(ด้วยขนาดที่ใหญ่กว้าง) และใช้วัสดุพื้นถิ่นดั้งเดิมของท้องถิ่น เช่น เสื่อไทยที่ใช้ในวัด มาเป็นส่วนที่นั่ง (ตัววัสดุเป็นพลาสติก PP รีไซเคิล) ส่วนตัวโครงสร้างอลูมิเนัยมก็ใช้จากอลูมิเนียมรีไซเคิลและคำนวณการใช้วัสดุเพื่อรบกวนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยที่สุด
- Bio Boxes by Bioplustiq โดย บริษัท สหชัยโปรโมชั่น จำกัด กล่องเอนกประสงค์ที่มีให้เลือกหลากหลายไซส์ สร้างมาเพื่อตอบโจทย์กับความต้องการใช้งานที่หลากหลาย ด้วยดีไซน์และผิวสัมผัสที่มีความมินิมอลมาพร้อมกับสีที่มีความโดดเด่นจากพลาสติกชีวภาพจากแกนกัญชงที่มีส่วนช่วยลดปริมาณพลาสติกลง 30% โดยเป็นการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบเหลือใช้จากเกษตรกรไทย ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- PlanToys โดย Plan Creations Ltd., Co. แปลนทอยส์ออกแบบด้วยหลัก eco-design คู่กับหลักพัฒนาการเด็กเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการที่สมวัย เราออกแบบและผลิตโดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ทำสินค้าให้คงทนและมีแบบที่ร่วมสมัยเพื่อส่งต่อการเล่นจากรุ่นสู่รุ่นได้ ทุกส่วนของต้นยางพาราที่หมดน้ำยางแล้วถูกใช้ในการผลิต เช่น ไม้ชิ้นและไม้อัดมาจากลำต้น ขี้เลื่อยจากการผลิตนำมาอัดขึ้นรูปเป็นวัสดุ PlanWood น้ำยางถูกทำเป็นชิ้นส่วนยางในของเล่น เศษเหลืออื่นๆ ใช้เป็นเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียน
- ผลิตภัณฑ์จากเศษรังไหม โดย วิสาหกิจชุมชนรังไหมประดิษฐ์ เนื่องจากจังหวัดสระบุรี เป็นที่ตั้งของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สระบุรี ทางกลุ่มจึงได้นำรังไหมมาแปรรูปเป็นงานหัตถกรรม โดยรังไหมเป็นวัสดุธรรมชาติที่มีความเหนียว และถ้าผ่านการต้ม ก็จะมีลักษณะนิ่มเหมือนลำลี
- ผลิตภัณฑ์จากใยกัญชง โดย บริษัท ปิยสีลา จำกัด การนำเส้นฝ้าย เส้นไหม เส้นใยกันชง ย้อมสีธรรมชาติ ทอแทรกด้วยกัญชงที่ผ่านกระบวนการฟอก ด้วยการทอลายทรงเรขาคณิต ซึ่งเป็นพื้นฐานการวางงานขนเผ่าม้ง เข้ามาต่อยอดและพัฒนาเพิ่มมูลค่าผ้าใยกัญชง ผ่านการออกแบบดีไซน์ให้ดูทันสมัยและเป็นสากลยิ่งขึ้น
- สินค้าโมเสคตกแต่งผนังและของตกแต่งบ้านจากวัสดุ Upcycle แบรนด์ Sonite โดย บริษัท โซไนต์ อินโนเวทีฟ เซอร์เฟสเซส จำกัด ลดการใช้ทรัพยากรใหม่ โดยใช้วัสดุเหลือทิ้งจากเกษตรกรรมมาทดแทน พร้อมช่วยลดขยะและการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจากการผลิต ปัจจุบันสามารถลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ร้อยละ 20-50 และยังมีการพัฒนาสูตรการผลิตเพื่อเพิ่มการใช้วัสดุเหลือทิ้งให้มากขึ้นโดยมีเป้าหมายในการสร้างวัสดุ Upcycle ชนิดใหม่อย่างน้อยปีละ 1 ชนิด ขณะเดียวกันยังมีแผนให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วมการพัฒนาที่ยั่งยืนนไปพร้อมกันด้วยการคืนสินค้าที่เสื่อมสภาพหรือไม่ต้องการใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตอีกครั้ง

สำหรับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ดีพร้อม ได้ประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและยกระดับการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย แนวคิดทางเศรษฐกิจหลัก 3 ด้าน ได้แก่
- Bio Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ) ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากความหลากหลายทางชีวภาพ (สมุนไพร ซูเปอร์ฟู้ดเส้นใย) รวมถึงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการพืชเศรษฐกิจ
- Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) หมุนเวียนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ มีการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรจนนำไปสู่ Zero Waste
- Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว) การพัฒนาที่ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการที่ต้องการยกระดับธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 10% และเชื่อมโยงสู่การขอรับรองฉลากสิ่งแวดล้อม (CFO, CFP)
“ทั้งนี้ ดีพร้อม เชื่อมั่นว่า โครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG จะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญของภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ไปสู่เป้าหมาย Net Zero Emission โดยในปี 2567 ดีพร้อมตั้งเป้ายกระดับผู้ประกอบการไทยจำนวนกว่า 1,800 ราย และเตรียมเปิดตัวโครงการในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป” ภาสกร กล่าวทิ้งท้าย