
ผู้บริโภคแอฟริกาใต้ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น จึงเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ลดขยะจากบรรจุภัณฑ์และวัสดุรีไซเคิล ซึ่งส่งผลให้บริษัทต่างๆ ได้หันมาพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น
ข้อมูลจาก KLA (หน่วยงานวิจัยตลาดที่ในแอฟริกาใต้ www.kla.co.za) ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคแอฟริกาใต้ (มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 692 ราย) เกี่ยวกับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกบรรจุภัณฑ์อาหาร โดยสรุปผลสำรวจ (คิดเป็น % ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด) ดังนี้
- 26% สะดวกในการใช้งาน เช่น ซีลปิด-เปิดได้ ปริมาณอาหารในบรรจุภัณฑ์มีความเหมาะสมกับปริมาณความต้องการบริโภค
- 26% มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น BPA-free มีข้อความระบุสารก่อภูมิแพ้บนฉลาก(Allergen Label)
- 23% เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้วัสดุรีไซเคิล ใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
- 10% มีนวัตกรรม เช่น มี OR Code, RFID tag, เซ็นเซอร์สำหรับตรวจสอบย้อนกลับ
- 8% โปร่งใส (ทำให้มองเห็นตัวสินค้าชัดเจน) และเรียบง่าย
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเกี่ยวกับนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล บรรจุภัณฑ์สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งตัวอย่างของนวัตกรรมของบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารในแอฟริกาใต้ เช่น
- ผลิตจากพลาสติกที่ผลิตจากพืช (Plant-based plastics)
- ผลิตจากของเสียจากภาคเกษตรและไมซีเลียม (Mycelium -เส้นใยจากเห็ดรา)
- ผลิตจากสาหร่ายซึ่งรับประทานได้และย่อยสลายได้
- ฟิล์มย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ทำจากโพลีเมอร์ธรรมชาติ เช่น แป้งไกลโคเจน เซลลูโลส
สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuseable) ยังคงได้รับความสนใจ เช่น
- บรรจุภัณฑ์ส่งคืนเพื่อนำมาใช้ใหม่
- การมัดจำค่าบรรจุภัณฑ์ โดยจะได้ค่ามัดจำคืนเมื่อได้คืนบรรจุภัณฑ์แล้ว
- สถานีเติมสินค้า (Refill Station) โดยใช้บรรจุภัณฑ์เดิม
- บริการสมัครสมาชิก โดยธุรกิจให้นำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ผ่านรูปแบบการสมัครสมาชิก
ตัวอย่างการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมในส่วนของบรรจุภัณฑ์ของบริษัทยูนิลีเวอร์
- 100% ของบรรจุภัณฑ์พลาสติกจะถูกนำมาใช้ซ้ำได้ รีไซเคิลได้ หรือย่อยสลายได้ ภายในปี 2568
- ลงทุนในวัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
- คิดค้นนวัตกรรม เช่น กระดาษสำหรับห่อสบู่ ขวดแชมพูที่ผลิตจากอลูมิเนียม (ช่วยลดขยะพลาสติก)
- ให้ความรู้ผู้บริโภคเกี่ยวกับการกำจัดขยะและการรีไซเคิลที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างของบริษัทอื่นๆ เช่น เนสท์เล่ ได้ลงทุนก่อตั้งสถาบันโดยเฉพาะสำหรับวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ภายใต้ชื่อ “สถาบันวิทยาศาสตร์บรรจุภัณฑ์เนสท์เล่” ส่วนแมคโดนัลด์ เปลี่ยนมาใช้หลอดดูดที่ผลิตจากกระดาษ
ข้อมูลเพิ่มเติมและความเห็นของสำนักงานฯ : ปัจจุบัน ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้น เนื่องจากบรรจุภัณฑ์อาหารมีความสำคัญหลายประการ เช่น ช่วยปกป้องและรักษาคุณภาพสินค้า สร้างภาพลักษณ์ให้แก่แบรนด์ สื่อสารข้อมูลต่างๆไปยังผู้บริโภค (อาทิ ส่วนผสม วันหมดอายุ ข้อมูลโภชนาการ วันหมดอายุ) อำนวยความสะดวกในการขนส่ง/โลจิสติกส์ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า สร้างความประทับใจให้แก่ผู้บริโภค ดังนั้น ผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคแอฟริกาใต้เกี่ยวกับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกบรรจุภัณฑ์ ที่พบว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความสะดวกในการใช้งาน ประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีนวัตกรรม ตามลำดับ ซึ่งข้อมูลผลสำรวจนี้จะช่วยให้ผู้ผลิตสินค้าอาหารรับรู้ถึงความคาดหวังของผู้บริโภคแอฟริกาใต้ อันนำไปสู่การปรับปรุงบรรจุภัณฑ์อาหารให้สอดคล้องความต้องการผู้บริโภคต่อไป
ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/193668