อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ออกมาให้ความรู้ผ่านทางเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ถึงเรื่องที่เป็นประเด็นการนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกต่างๆ ไปเติมน้ำมัน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดไฟฟ้าสถิตย์ได้

อาจารย์เจษฎ์ ได้แนบคลิปวิดีโอจากทาง Reel https://www.facebook.com/reel/216900098005584) ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าผู้บรรยายมีการแนะนำว่าไม่ควรนำ แกลลอนใส่นม, ขวดน้ำดื่ม, บรรจุภัณฑ์ใส่น้ำมันเครื่องต่างๆ เนื่องจากจะทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตย์และเกิดเป็นประกายไฟ จนสุดท้ายอาจส่งให้ให้เกิดอัคคีภัย
เหตุผลที่เรื่องไฟฟ้าสถิตย์นั้น ถูกเอาไปใช้เป็นข้ออ้างหนึ่ง ประกอบข้อห้ามปั๊มน้ำมัน ไม่ให้ใช้ขวดพลาสติกมาบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงขายลูกค้า โดยอ้างว่า ระหว่างที่เติมน้ำมันลงไปในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก (โดยเฉพาะชนิดโพลีเอทิลีน) มันจะทำให้เกิดการสะสมของประจุไฟฟ้าสถิตย์ขึ้นที่ผนังด้านในของบรรจุภัณฑ์นั้นให้มากขึ้น แล้วกระแสของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ฉีดลงไปในถัง ก็สร้างประจไฟฟ้าขึ้น เลยทำให้เกิดการคายประจุของไฟฟ้าสถิตย์ ส่งผลให้ไปจุดระเบิดไอของน้ำมัน และนำไปสู่เพลิงไหม้ได้
แต่สมมติฐานดังกล่าว ไม่น่าเกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง เนื่องจากการที่จะเกิดประจุไฟฟ้าสะสมที่ข้างในของถังพลาสติกได้นั้น พื้นผิวของพลาสติกจะต้องถูกขัดถูกับวัสดุชนิดอื่น ให้แรงและนานพอที่จะเกิดการแลกเปลี่ยนประจุขึ้น เช่น ต้องเป็นถัง ที่วางอยู่กับพรมบนพื้นรถ แล้วกลิ้งไปกลิ้งมาอย่างแรงและใช้เวลานานในขณะที่การเติมน้ำมันลงไปในถังบรรจุเชื้อเพลิง ก็ไม่ได้จะพุ่งพรวดไฮสปีด จนเกิดประจุไฟฟ้าสะสมขึ้นอย่างที่สงสัยกัน อาจารย์เจษฎ์ ให้ความรู้เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม อาจารย์เจษฎ์ ตั้งคำถามกลับไปว่า ถังเก็บน้ำมันโดยเฉพาะที่มีขายกันทั่วไป หรือแม้แต่ที่ปั๊มน้ำมันใช้เองก็ทำจาก “พลาสติก” แล้วทำไมถึงไม่กลัวไฟฟ้าสถิตย์ พร้อมให้คำตอบว่านั่นเพราะมาจากเป็นความเชื่อที่อ้างกันมาจากในต่างประเทศมาอย่างยาวนานแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นเช่นนั้นจริง และในไทยก็ยังอ้างตามกันอยู่ (คล้ายเรื่อง ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในปั๊มน้ำมัน นั่นแหละครับ) โดยปัจจุบัน จะเห็นว่า เหตุผลที่ใช้อธิบายเรื่องนี้จะเป็นเรื่อง “ชนิดและประสิทธิภาพของพลาสติก ว่าทนน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากน้อยแค่ไหน ต่างหาก”
นอกจากนี้เมื่อหาข้อมูลจากเว็บต่างประเทศ เกี่ยวกับเรื่องที่ว่า ทำไมถึงไม่ให้เติมน้ำมันเชื้อเพลิงลงในภาชนะพลาสติก (ที่ไม่ใช่ถังเก็บน้ำมันโดยเฉพาะ) ก็จะได้คำตอบเกี่ยวกับปัญหาเรื่องคุณภาพของภาชนะพลาสติกนั้นมากกว่า ดังนี้
- โดยทั่วไปแล้ว ขวดพลาสติกไม่ควรนำมาเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากความเสี่ยงที่ไอระเหยจากน้ำมันจะถูกเก็บไว้ภายใน และทำให้เกิดการกัดกร่อนเสียหายขึ้นกับผนังของขวดพลาสติกได้ จึงไม่ควรเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงในบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นถังโลหะหรือถังพลาสติก
- ตามกฏหมายแล้ว เราไม่ได้รับอนุญาตให้เติมน้ำมันเชื้อเพลิงลงในขวดพลาสติกที่ปั๊มน้ำมัน โดยเฉพาะขวดน้ำซึ่งเป็นชนิด ขวดเพต PET (polyethylene terephthalate) นั้น จะละลายได้ในน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ขวดเสียหาย รั่วซึม และเกิดอันตรายต่อสาธารณะได้
- น้ำมันเชื้อเพลิงจึงต้องเก็บในภาชนะที่ทำมาโดยเฉพาะเท่านั้น และไม่เก็บในภาชนะใดที่บอกว่าเอาไว้ใส่เครื่องดื่มหรืออาหาร มีพลาสติกหลายชนิด เช่น ถุงพลาสติก ถ้วยพลาสติก ที่หดตัวและละลายได้อย่างรวดเร็วเมื่อถูกน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากมันมีโครงสร้างทางเคมีที่คล้ายคลึงกัน คือมีส่วนของไฮโดรคาร์บอนประกอบอยู่ จึงละลายเข้าหากันได้
- พลาสติกชนิดที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์สำหรับเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงได้นั้น จะเป็นชนิด high-Density Polyethylene (HDPE) ที่ทนทานต่อการกัดกร่อนของน้ำมันและไม่ละลาย เนื่องจากมีโครงสร้างพันธะทางเคมีที่แข็งแรงกว่า ทนทานกว่า และมีจุดหลอมละลายสูง จึงเหมาะที่จะใช้ป้องกันไม่ให้น้ำมันเชื้อเพลิงสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมและความร้อนได้
ขอบคุณข้อมูลข่าวสารจาก : อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์