โฟมเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก ส่งผลให้ต้องทำการรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ โดยที่บ้านเลขที่ 180 หมู่ที่ 4 ตำบลม่วงหมู่ อำเภอเมืองสิงห์บุรี เป็นผู้ริเริ่มการทำกระถางต้นไม้จากโฟมเหลือใช้ และถือเป็นครัวเรือนต้นแบบการจัดการขยะต้นทางอีกด้วย

สำหรับโฟมที่ไม่ได้ใช้แล้วจะถูกนำมาเข้าเครื่องสับย่อยเป็นชิ้นละเอียด ก่อนเข้าสู่กระบวนการผสมปูนจำนวน 9 กิโลกรัม และทรายอีก จำนวน 4 กิโลกรัม ต่อโฟมจำนวน 1 กิโลกรัม จากนั้นผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน นำส่วนผสมที่กล่าวใส่ลงแม่พิมพ์กระถางปรับแต่งรูปทรงด้วยความปราณีตเข้ากับแม่พิมพ์ตกแต่งผิวเรียบใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมงเพื่อรอให้ปูนแห้งแล้วถอดแม่พิมพ์ออกและตกแต่งระบายสีเพิ่มความสวยงาน หนึ่งวันสามารถทำได้ถึง 4-5 กระถางเพราะมีแท่นพิมพ์หลายอันใช้ทำสลับกันไปเพื่อไม่ให้เสียเวลาในการรอนาน

ส่วนผสมที่เหลือสามารถนำไปทำอิฐตัวหนอนได้ เป็นการลดต้นทุนการผลิตลงใช้ส่วนผสมปูนและทรายน้อยลง มีน้ำหนักเบาเคลื่อนย้ายได้ง่าย ทนทานใช้งานได้ยาวนาน นี่คือการนำขยะโฟมกลับมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าได้ประโยชน์สูงสุด ในวงการอุตสาหกรรมก่อสร้างได้นำเม็ดโฟมมาเป็นมวลประสานผสมเข้ากับปูนใช้ในการผลิตบล๊อก อิฐ ปูน ผนังสำเร็จรูป นำไปใช้ก่อสร้างอาคารใหญ่ๆ เนื่องจากคุณสมบัติที่มันไม่พองน้ำ นำมาใช้แทนที่ทรายได้ทั้งหมดและยังมีคุณสมบัติในเรื่องของการทนอีกด้วย เม็ดโฟมที่มีน้ำหนักเบาหรือแทบไม่มีน้ำหนักเลย นำมาผสมกับปูนซีเมนต์ปริมาตรของเม็ดโฟม 1 เม็ดจะทำให้เกิดหลุม 1 หลุม หรือช่องว่างเกิดขึ้นในมลประสานของปูนซีเมนต์เมื่อแห้งแล้วก็จะทำให้ปูนก้อนนั้นแข็งและน้ำหนักเบากว่าอิฐปรกติที่ไม่ผสมโฟม

นอกจากการทำกระถางแล้ว กำนันด้วงยังทำที่กั้นทางเท้า แจกัน ป้ายชื่อ ทุกชิ้นงานใช้ส่วนผสมของโฟมเป็นหลัก มีพ่อค้าแม่ค้าที่ขายต้นไม้มาติดต่อขอซื้อเป็นจำนวนมากเพราะราคาไม่แพงเพียง 70 บาท นำไปตกแต่งทาสีเองก็ได้ เป็นศูนย์เรียนรู้ให้ชาวบ้านได้มาศึกษาสามารถทำเป็นอาชีพหารายได้เสริมได้ติดต่อสอบถาม โทร.089-9049966 กำนันด้วง