ผู้นำกลุ่มอุตฯ พลาสติกเผย ผปก.ไทยยังปรับตัวได้ดีท่ามกลางความท้าทาย ชี้ “ชีวภาพ รีไซเคิล นวัตกรรม” แรงหนุนใหญ่เพิ่มความเชื่อมั่น มูลค่าการเติบโตด้านบิ๊กเทรดแฟร์ ลุยจัดเมกะอีเว้นท์โชว์เคสอินโนเวชั่นสุดล้ำกระตุ้น เศรษฐกิจปลายปี

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ดึงกูรูและผู้เชี่ยวชาญจากวงการอุตสาหกรรมพลาสติกและยางไทย ร่วมเปิดมุมมองและแนวทางการนำเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางและพลาสติกให้เกิดความยั่งยืน เพื่อเสริมแกร่งและยกระดับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมพลาสติกและยางไทยให้เติบโตไกลสู่ตลาดระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ กับงานมหกรรมแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมพลาสติกและยาง หรือ International Trade Fair for the Plastics and Rubber Industries : T-PLAS 2023 ที่จะจัดขึ้นช่วงวันที่ 20 – 23 กันยายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก เปิดเผยว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทำให้ทุก ๆ อุตสาหกรรมได้นำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาปรับใช้ รวมถึงพัฒนานวัตกรรมขึ้นใหม่ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ทั้งนี้ หนึ่งในนวัตกรรมที่มีความสำคัญและมีผลกระทบเชิงบวกกับธุรกิจอย่างมากก็คือ เทคโนโลยีที่ช่วยรักษาความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม และที่สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจแบบบีซีจี (Bioeconomy , Circular , Green) ซึ่งหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมที่กำลังพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันดังกล่าวก็คือกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก โดยกำลังเร่งปรับตัวทั้งการเปลี่ยนการผลิตแบบเดิม ๆ การต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งมีมูลค่าสูง และการหาโซลูชันเพื่อให้พลาสติกสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

นายวีระ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของสถาบันพลาสติกมีการส่งเสริมนวัตกรรมในอุตสาหกรรมพลาสติกทั้งการจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปริมาณการผลิต ปริมาณการใช้ และปริมาณการก่อขยะขึ้นมา เพื่อให้มีฐานข้อมูลในการอ้างอิงและใช้ประโยชน์ร่วมกัน การพัฒนาพลาสติกชีวภาพ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการคัดแยกขยะพลาสติกสู่กระบวนการรีไซเคิล รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำอุปกรณ์เพื่อการลดพลังงาน และลดการสูญเสียจากการผลิตเข้ามาใช้ร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอุตสาหกรรมที่มีการนำพลาสติกเข้าไปเป็นส่วนสำคัญทางธุรกิจมากที่สุดก็คืออุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่มีมากถึง 40% ของผลิตภัณฑ์จากพลาสติกทั้งหมด และการใช้พลาสติกทางการแพทย์ก็มีการเติบโตเป็นอย่างมากหลังจากพ้นช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา

นายเกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย กล่าวว่า การจัดมหกรรมแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมพลาสติกและยาง หรือ International Trade Fair for the Plastics and Rubber Industries : T-PLAS 2023 ในครั้งนี้มีเป้าหมายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมพลาสติกและยางในระดับภูมิภาค และในระดับนานาชาติ เปิดเวทีให้แต่ละองค์กรได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับอุตสาหกรรมพลาสติกและยางไปด้วยกัน โดยเมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย เล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยในการเป็นพื้นที่สำคัญของอุตสาหกรรมพลาสติก และยังคงใช้ไทยเป็นแพลตฟอร์มในการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมอื่นๆ เข้าด้วยกัน โดยภายในงานมีการนำเสนอโซลูชันสำหรับอุตสาหกรรมครอบคลุมทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่อัปเดทล่าสุด พร้อมทั้งวัตถุดิบต่าง ๆ ชิ้นส่วนทางเทคนิค ไปจนถึงบริการที่เกี่ยวเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการจากทั้งอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมยาง นอกจากนี้ T-PLAS 2023 ยังเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันดีมานด์ด้านพลาสติกและยางภายในประเทศไทยให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ นอกจากนี้ภายในงานยังส่งเสริมให้โมเดลเศรษฐกิจอย่าง บีซีจี โมเดล มีความชัดเจนมากขึ้นผ่านกิจกรรม และการแสดงนวัตกรรมของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติก
สำหรับงาน T-PLAS 2023 นอกจากจะส่งเสริมผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมพลาสติกและยางของไทยให้เติบโตในระดับนานาชาติอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังนำเสนอมุมมองเศรษฐกิจหมุนเวียนในมิติของพลาสติกและยางที่กำลังเติบโต พร้อมทั้งยังตั้งเป้าหมายสร้างการจับคู่ธุรกิจที่เพิ่มขึ้น กระตุ้นให้เกิดการลงทุนในไทยตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนและการจัดตั้งอุตสาหกรรมของรัฐบาล จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 กันยายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ภายในงานมีการจัดแสดงสินค้าอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมยางจากองค์กรชั้นนำทั่วโลก สามารถติดตามการจัดงานงาน T-PLAS 2023 ได้ที่ https://www.tplas.com/