
เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญไทย-สหภาพยุโรป เพื่อผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนและดำเนินงานการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility : EPR) ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ภายใต้โครงการ “Thai – EU Experts’ Exchange on Circular Economy and the Extended Producer Responsibility (EPR) in Packaging” ณ โรงแรม วี กรุงเทพฯ
โครงการฯ ได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศ ประเทศไทยมาดำเนินงานเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีของสหภาพยุโรป รวมทั้งเพื่อนำมาสนับสนุนการจัดทำร่างกฎหมายการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) ของไทย และยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของไทยในการส่งเสริมขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทย และบรรลุเป้าหมายตามนโยบายเศรษฐกิจแบบ BCG ซึ่งประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy (BCG) ในการสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยโครงการนี้ได้ดำเนินกิจกรรมหลากหลายประเภท ซึ่งรวมถึงกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญไทย-สหภาพยุโรปในวันนี้ที่ครอบคลุมตลอดระยะเวลา 5 วัน
นายนภดล ศิวะบุตร รองประธานสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า “สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถือเป็นแกนกลางหลักในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนการจัดทำร่างกฎหมายการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) ของไทย รวมทั้งเรายังได้ร่วมศึกษาและทดลองดำเนินโครงการนำร่องนี้ เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ผู้ผลิตรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) รวมทั้งเพื่อรองรับกับกฏระเบียบบังคับของการค้าโลกที่เข้มงวด เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากภาวะโลกร้อน และ ส.อ.ท. เอง เราพร้อมสร้างความเข้าใจ ให้ความรู้ไปยังสมาชิกเครือข่าย โดยเน้นย้ำผู้ผลิตว่าต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมก่อนผลิตสินค้าใดๆ ออกมา ไม่ใช่เพียงแค่ผลิตสินค้าที่ราคาถูกที่สุด แต่ต้องเน้นการใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ ไปพร้อมๆ กับการได้มาซึ่งคุณภาพตามมาตรฐาน”
“เราพร้อมเดินหน้าบริหารบรรจุภัณฑ์สู่การรีไซเคิลทั้งระบบร่วมรัฐและชุมชน เพื่อรองรับกติกาโลก เพื่อลดโลกร้อน โดยหวังว่าจะสามารถเตรียมออกเป็น EPR ภาคบังคับในประเทศไทยได้ในปี 2570 นี้” นายนภดล กล่าวทิ้งท้าย
ภายใต้โครงการฯ เรายังได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรอื่นๆ เช่น สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ซึ่งเป็นองค์กรทางวิชาการที่ให้คำปรึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้ด้าน EPR จากต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้กับการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับบริบทของไทย
ขอบคุณข้อมูลจาก : efinancethai