
ปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยถือว่าเป็นภาคส่วนที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ สถาบันไทย-เยอรมัน จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในภาคอุตสาหกรรม ทำหน้าที่ในการช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้สามารถปรับตัวตามเทร็นด์ของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่อง BCG, ลดการใช้พลังงานหรือลดการปลดปล่อยคาร์บอน ที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ วารสารบรรจุภัณฑ์ไทยมีโอกาสได้พูดคุยกับ อรุณ เจียงศรีเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีแม่พิมพ์เครื่องมือกลและบริการทดสอบ สถาบันไทย-เยอรมัน ถึงบทบาทของสถาบันฯ ว่ามีส่วนช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมอนาคตได้อย่างไร
ประวัติการทำงานตั้งแต่สำเร็จการศึกษา

อรุณ เจียงศรีเจริญ จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ สาขาวิชาช่างยนต์ จากสถาบันเทคโนโลยีสยาม จากนั้นเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมการผลิต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และเมื่อจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2549 ได้ขอทุนเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท วิศวกรรมวัสดุและโลหะการ สาขาวิชา Metallurgical Engineering ที่ RWTH Aachen University, Germany และหลังจบการศึกษาใน พ.ศ. 2551 ได้กลับมาทำงานที่สถาบันไทย-เยอรมัน ในตำแหน่งวิศวกรด้านวัสดุและทดสอบต่าง ๆ หลังจากที่ทำงานในระยะเวลา 2 ปี ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการแผนก ดูแลเทคโนโลยีหลัก 3 ด้าน คือ 1) เทคโนโลยีด้านวัสดุและงานทดสอบต่าง ๆ 2) เทคโนโลยีด้านงานวัดและมาตรวิทยา 3) เทคโนโลยีด้านงานเชื่อมและผู้ตรวจสอบงานเชื่อม ต่อมาหลังจากที่ทำงานได้ช่วงระยะหนึ่งได้เลื่อนตำแหน่งเป็น Senior Manager ผู้จัดการอาวุโส จากนั้นได้ Candidate ตาม Roadmap ของสถาบันฯ จึงได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีแม่พิมพ์เครื่องมือกลและบริการทดสอบ สถาบันไทย-เยอรมัน จนถึงทุกวันนี้
สถาบันฯ ทำหน้าที่ขับเคลื่อน ช่วยเหลือ สนับสนุนอุตสาหกรรมไทย
สถาบันไทย-เยอรมัน จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
โดยสถาบันฯ มีลักษณะการบริหารงานเป็นอิสระและอยู่นอกระบบการศึกษา ภายใต้การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิมากำกับดูแลการดำเนินงาน มีหน้าที่ในการขับเคลื่อน ช่วยเหลือ สนับสนุนอุตสาหกรรม ทางด้านเทคนิคอล งานวิศวกรรม งานบริหารจัดการและงานวิจัย ผ่านบริการต่าง ๆ ของสถาบันฯ เช่น
บริการฝึกอบรมสัมมนา เพื่อยกระดับบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ ทั้ง Up Skill, Re-Skill ให้ตอบโจทย์และปรับตัวเข้ากับโลกอุตสาหกรรมยุคใหม่ โดยในส่วนของการฝึกอบรมนั้นทางสถาบันฯได้รับการรับรอง ISO9001:2015
บริการด้านที่ปรึกษาในด้านการแนะนำ ปรับเปลี่ยนกระบวนการ ลดต้นทุน ลดของเสียต่าง ๆ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มาตรการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้ หรือการพัฒนากระบวนการผลิตให้ตอบโจทย์ด้วยระบบ IIOT และ Automation
งานบริการอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น งานผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ผลิตแม่พิมพ์ งานขึ้นรูปชิ้นส่วนโลหะ-พลาสติก การออกแบบ การจำลองการทำงานหรือ Simulation การปรับปรุงเครื่องจักร (Retrofit) การออกแบบและสร้างเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ การออกแบบและสร้าง JIG&Fixture การสอบเทียบเครื่องจักร CNC รวมถึงการทำวิศวกรรมย้อนรอย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีงานบริการห้องปฏิบัติการวัดและทดสอบต่าง ๆ โดยเป็น Lab กลางในการให้บริการวัด-ทดสอบ ซึ่งการบริการเป็นไปตามมาตรฐาน ISO/IEC17025:2017 ในราคาที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย นอกจากการทดสอบด้านคุณภาพแล้ว ทางสถาบันยังให้บริการวิเคราะห์ความเสีย รวมถึงให้คำแนะนำเรื่องผลการทดสอบ อธิบายตีความผล เพราะสามารถสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการผลิตว่ามีปัญหาด้านใดและต้องแก้ไขอย่างไร อีกด้วย
เป้าหมายการทำงานของสถาบันฯ
1. ชูจุดเด่นของสถาบันไทย เยอรมันเป็นประเทศอันดับ 1 ในเรื่องของอุตสาหกรรม ประกอบไปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมหลาย ๆ มิติ และหนึ่งในหลายวัฒนธรรมที่รับมาจากเยอรมันคือ เรื่องการฝึกอบรมและถ่ายทอดความรู้ รวมไปถึงรูปแบบการทำงาน ซึ่งทางสถาบันฯ พยายามรักษาและปรับใช้ โดยยังคงอัตลักษณ์ที่ชัดเจน
2. ระบบ Digital และ Automation ปัจจุบันโลกเราเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเร็ว บุคลากร เทคโนโลยี และรูปแบบต่าง ๆ จึงต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วยเพื่อให้ทันยุค ทันสมัยและสามารถแข่งขันได้ หนึ่งในเทคโนโลยีที่เราจำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงและอุตสาหกรรมจำเป็นต้องใช้คือ Digital Transformation ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมและให้คำแนะนำต่าง ๆ ในภาคอุตสาหกรรมด้าน Digital มากขึ้น เช่น การเปลี่ยนกระบวนการผลิตแบบเดิม ๆ ให้เป็นระบบ Digital และ Automation มากขึ้น รวมถึงการใช้ Robotic มากขึ้น ทางสถาบันฯ ยินดีให้บริการทั้งในเรื่องอบรมและเป็นที่ปรึกษา
3. ร่วมลดสภาวะโลกร้อน เนื่องจากปัจจุบันภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ ได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนผ่านมาตรการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือที่เราเรียกว่าการปลดปล่อยคาร์บอนเทียบเท่า ในห่วงโซ่การผลิต ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวและเห็นความสำคัญของการลดภาวะโลกร้อนมากขึ้น เช่น การประชุม COP หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีการประกาศข้อตกลงจัดตั้งกองทุนชดเชยค่าความเสียหายและความสูญเสีย (Loss and Damage Finance Fund) ซึ่งเป็นกองทุนแรกของโลกที่มีเป้าหมายเพื่อจ่ายเงินชดเชยค่าผลกระทบที่ไม่อาจย้อนคืนจากหายนะทางสภาพอากาศให้แก่ประเทศยากจนและเปราะบาง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย เพราะเป็นประเทศที่ผู้ผลิตให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมหลัก เช่น ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่นเดียวกับวงการ Packaging ซึ่งปัจจุบันได้มีเงื่อนไขของประเทศปลายทาง โดยเฉพาะยุโรปที่ได้มีการตั้งมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรปหรือที่เรียกว่า CBAM เข้ามาเกี่ยวข้อง คาดว่าอนาคตอันใกล้จะมีการขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยเรามีการค้าขายกับประเทศเหล่านี้ค่อนข้างมาก หนึ่งในนั้นคือ Packaging ที่ต้องปรับตัวตามกฎเหล่านี้ ต้องมีแนวทางการลดโลกร้อนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ประกอบการที่ผลิต Packaging, Printing ต้องแจ้งตัวเลขคาร์บอนเพื่อนำส่งให้กับลูกค้าปลายทาง ทางสถาบันฯ จึงมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและแนะนำผู้ประกอบการต่าง ๆ ให้ปรับตัวได้ด้วยมาตรการลดต่าง ๆ เช่น เรื่องลดการใช้พลังงานไฟฟ้า หรือทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น บริษัทที่มีเครื่องจักรเก่าและกินไฟ ประสิทธิภาพการใช้งานไม่ดี หากเปลี่ยนเครี่องจักรใหม่จะทำให้ประสิทธิภาพดีขึ้น หรือการปรับปรุงเครื่องเก่าให้ดีขึ้นด้วยการ Retrofit โดยไม่ต้องซื้อเครื่องใหม่ รวมไปถึงการใช้ระบบ Automation และ IIot เข้ามาช่วย เช่น การจับภาวะโหลดทางไฟฟ้าซึ่งเราสามารถดู Data แบบ Real Time และ Recordsได้ สามารถใช้ AI ประเมินในเรื่องของการใช้พลังงานได้ สามารถจัดสรรทรัพยากรใหม่ให้เหมาะสมได้จากการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้การบริหารจัดการพลังงานและการบริหารการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุก ๆ กิจกรรมทำได้ง่ายขึ้น
“สถาบันฯ จึงมีหน้าที่หลักมุ่งเน้นในการขับเคลื่อนด้าน Smart and Green Transformation ช่วยเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมให้ Green และทำงานให้ Smart มากขึ้น”
งานบริการต่าง ๆ
บริการฝึกอบรมและสัมมนา สถาบันไทย-เยอรมัน มุ่งเน้นการจัดฝึกอบรมเพื่อยกระดับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมให้มีทักษะ ความรู้ ความสามารถที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ทันสมัย ด้วยบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางและมีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี

บริการด้านอุตสาหกรรม อาทิ ผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรและแม่พิมพ์ ออกแบบและผลิตแม่พิมพ์ ผลิตชิ้นส่วนโลหะและพลาสติก CNC Retrofit การปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร ออกแบบชิ้นส่วนและเครื่องจักรพร้อมการจำลองการทำงาน บำรุงรักษาเครื่องจักร ออกแบบโรงงานและไลน์การผลิต เช่น สามารถสร้าง Layout และ Simulation ขึ้นมาว่า Layout ที่เราใช้อยู่มีการสูญเสียตรงไหนบ้าง และทำให้ดีกว่านี้ได้ไหม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำผลที่ได้ไปปรับปรุงการผลิตใหม่ เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดการใช้พลังงานได้มากขึ้น เป็นต้น รวมไปถึงกรณีบริษัท Startup หรือโรงงานที่มีชิ้นส่วน Spare Part ชิ้นส่วนเครื่องจักรต่าง ๆ หรือแม่พิมพ์ ทางสถาบันฯ สามารถให้การ Support ได้ ไม่ว่าจะเป็นบริการผลิตแม่พิมพ์ รวมไปถึงติดตั้งระบบอัตโนมัติให้กับโรงงานและทดลองการผลิตต่าง ๆ เป็นต้น

บริการด้านทดสอบและระบบคุณภาพ สถาบันทำหน้าที่เป็น Lab กลางในการให้บริการวัด-ทดสอบ ซึ่งการบริการเป็นไปตามมาตรฐาน ISO/IEC17025:2017 ในราคาที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย นอกจากการทดสอบด้านคุณภาพแล้ว ทางสถาบันยังให้บริการวิเคราะห์ความเสีย รวมถึงให้คำแนะนำเรื่องผลการทดสอบ อธิบายตีความผล
บริการด้านให้คำปรึกษา ในมิติของการแนะนำ การปรับเปลี่ยนกระบวนการ ลดต้นทุน ลดของเสียต่าง ๆ หรือเพิ่มกำลังการผลิต ให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและมีประสบการณ์โดยตรงมากกว่า 20 ปี
นวัตกรรมที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์
ทางสถาบันฯ เล็งเห็นความสำคัญของนวัตกรรม โดยแบ่งออกเป็น 2 มิติ ได้แก่ 1. พัฒนาสิ่งเก่าให้ดีกว่าเดิม 2. การทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งบทบาทของสถาบันฯ เราจะมุ่งเน้นการพัฒนาสิ่งเก่าให้ดีกว่าเดิม เพราะมิติแรกของอุตสาหกรรมในไทยสามารถทำได้เลยไม่ต้องใช้ระยะเวลามาก สามารถปรับปรุงได้ตั้งแต่กระบวนการดีไซน์ เช่น ช่วยพัฒนาเครื่องจักรผลิต Packaging ให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นได้ เช่น
1. แก้ปัญหากระบวนการผลิตต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วย เช่น ระบบ IIot, ระบบการสื่อสาร ระบบการปรับปรุงประสิทธิภาพด้าน Automation หรือการใช้ Robotic ที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้นเพื่อให้ประสิทธิภาพการใช้งานที่สูงขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีการใช้ในเรื่องระบบ AI เข้าไปวิเคราะห์ Data ต่าง ๆ ว่า Data ที่คุณผลิตอยู่ตอนนี้มีความเหมาะสมแล้วหรือยัง มีการสูญเสียในขั้นตอนใด ซึ่งเป็นบริการที่เรามองว่าเป็นเชิงนวัตกรรมในเรื่องปรับปรุงให้กระบวนการผลิตดีกว่าเดิม
2. เรื่องการดีไซน์การผลิต ไม่ว่าจะเป็นเครี่องจักรหรือการผลิตแม่พิมพ์ เช่น การฉีดพลาสติก สามารถช่วยออกแบบระบบ Cooling ใหม่ให้มีความเย็นตัวไว เพื่อลดระยะเวลาในการผลิต ในขณะที่เราใช้เครื่องจักรตัวเดิม เป็นต้น เป็นตัวอย่างนวัตกรรมที่มาช่วยให้การดีไซน์แม่พิมพ์มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
3. เรื่องการดีไซน์ Product หรือผลิตภัณฑ์ Packaging ในปัจจุบันการออกแบบต้องอยู่ในเทร็นด์และเหมาะกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยให้อยู่ในเทร็นด์ของการลดโลกร้อน ลดการใช้ทรัพยากร ยืดอายุหรือสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น กลุ่มพลาสติก เราช่วยดีไซน์ให้มีการใช้เม็ดพลาสติกน้อยลง สามารถใช้กับเม็ดพลาสติกที่มีการรีไซเคิลได้หรือมีการผสมไบโอพลาสติกเข้าไปให้สามารถย่อยสลายได้มากขึ้น เป็นต้น
ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมและบริการที่โดดเด่น
ทางสถาบันฯ มีการดีไซน์กล่องพลาสติกบรรจุอาหารโดยไม่ต้องใช้แม็กหรือสก๊อตเทปเย็บปิดฝากล่อง โดยมีการดีไซน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ตั้งแต่ระบบเชิงกล ให้เป็นระบบออโต้ล็อก จากนั้นออกแบบตัวแม่พิมพ์ให้สอดรับกัน เวลาขึ้นรูปและตัดออกมาสามารถทำให้เป็นดีไซน์ที่เราทำไว้ เพื่อลดการใช้เทป แม็ก สามารถทำได้ทั้งกระดาษ พลาสติก และบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ
สำหรับเรื่องงานบริการด้านที่ปรึกษา จะมีผู้ประกอบการมาขอคำแนะนำในเรื่องการดีไซน์ Packaging ซึ่งประเทศที่ดีไซน์ได้ดีต้องยกให้ประเทศญี่ปุ่น ช่วงนี้จีนก็เริ่มหันมาทำแล้ว ซึ่งเทร็นด์ด้านการออกแบบบ้านเรานั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เพื่อเพิ่มจำนวนให้กับผลิตภัณฑ์และทำให้ Packaging ดูสะดุดตา น่าใช้ สามารถซื้อเป็นของฝากได้ ดูดี ในราคาที่จับต้องได้ และอีกมิติหนึ่ง คือ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความ Green และตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่าการส่งออกในบ้านเราส่วนมากจะเป็นผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร ล้วนต้องใช้ Packaging และขึ้นอยู่กับการดีไซน์เป็นหลัก ถ้าเป็นกระป๋องอาจจะเน้นเรื่องการใช้งานที่ยาวนาน เป็นสนิมได้ยาก เปิดง่าย สำหรับขวดอาจเน้นเรื่องการดีไซน์เป็นหลัก มีเอกลักษณ์และใส่ใจสิ่งแวดล้อม สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% ถ้าเป็นกลุ่มกระดาษที่เป็นกล่องอาจเน้นการออกแบบในเรื่องการประกอบง่าย แข็งแรง ใช้ซ้ำได้ หรือตำแหน่งฉีกให้ฉีกง่ายโดยไม่ต้องออกแรงมาก เป็นต้น
สำหรับบริการการฝึกอบรมและสัมมนาของสถาบันถือว่าเป็นหัวใจหลัก ซึ่งปัจจุบันนี้กระแสหลักคือเรื่องของ BCG เพราะฉะนั้นหัวข้อต่าง ๆ ที่จัดสัมมนาขึ้นจะมีการสอดแทรกมาตรการ BCG เพราะถือว่าเป็นแนวทางในการสร้างความยั่งยืนให้กับบริษัทและประเทศ ซึ่งหลัก ๆ เราจะเน้นที่ Green และสอดแทรกเข้าไปในหลักสูตรต่าง ๆ เช่น หลักสูตรการผลิตแม่พิมพ์จะสอดแทรกเนื้อหาเข้าไปด้วยว่าจะทำอย่างไรให้ Green ตอบโจทย์กับ BCG เป็นต้น นอกจากนี้เรายังสอดแทรกเนื้อหาเรื่อง Smart เข้าไปในเนื้อหาให้มากขึ้น ทุก ๆ หลักสูตรทางสถาบันฯ พยายามสอดแทรกเนื้อหาเหล่านี้เข้าไปเพื่อให้ผู้เข้าอบรมนอกจากจะได้ความรู้ด้านเทคนิคแล้วยังได้แนวทางมาตรการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและทำอย่างไรให้ Smart มากกว่าเดิม
“ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเร็ว เรามองว่าทุกหน่วยงานต้องทำงานสอดประสานกันมากขึ้น ใช้ความสามารถของแต่ละองค์กร ร่วมมือกัน ควรปรับเปลี่ยนจาก Mindset เดิม ๆ ทุกองค์กรต้องมีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนได้ เปลี่ยนจากการบริหารงานแบบเดิม ๆ เป็นการทำงานแบบ Agile มากขึ้น ทำงานแบบกลุ่มย่อย รวดเร็ว ว่องไว เน้นผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าขั้นตอน เพราะแบบเดิม ๆ ไม่สามารถแข่งขันได้ ปัจจุบันหลาย ๆ หน่วยงานได้เริ่มพยายามปรับตัวมากขึ้น”
สิ่งที่อยากฝากไปถึงผู้ประกอบการ
โลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในมิติของเทคโนโลยีและอื่น ๆ มากมาย วันนี้ทุกธุรกิจต้องปรับตัวมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความตั้งใจ เอาจริงเอาจัง งบประมาณ รวมถึงขนาดและรูปแบบองค์กร ดังนั้นถึงเวลาที่ต้องวางกลยุทธิ์ การดำเนินงานให้อยู่รอดและยั่งยืน โดยปรับใช้เทคโนโลยีให้ทันตามเทร็นด์ที่เป็นไป คือ Digital, AI และ Green เพื่อความยั่งยืนและคงไว้ซึ่งความสามารถในการแข่งขัน ที่ปัจจุบันโลกเล็กลงทุกวัน
ผู้ประกอบการที่ตระหนักและพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง แต่อาจขาดบางอย่างที่ต้องการการช่วยเหลือหรือต้องการคำแนะนำต่าง ๆ ทางสถาบันฯ ยินดีช่วยเหลือ เติมเต็มในทุก ๆ มิติ และมีโครงการต่าง ๆ คอยสนับสนุนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงหน่วยงานจากต่างประเทศอีกด้วย
สำหรับวงการ Packaging ทางสถาบันฯ ยังต้องเข้าไปมีส่วนร่วมให้มากขึ้น ซึ่งเรามีความตั้งใจที่จะเข้าไปในวงการ Packaging ให้มากขึ้น ตั้งแต่การดีไซน์ กระบวนการผลิตแบบใหม่ ๆ เพื่อให้ออกมาเป็น Packaging ที่ดี รักษ์โลก ตอบโจทย์ลูกค้า และสามารถรีไซเคิลได้ ผ่านบริการต่าง ๆ ที่เรามี
หากผู้ประกอบการท่านใดหรือหน่วยงานไหนสนใจในบริการของสถาบันฯ สามารถติดต่อได้ที่ 0 3821 5033-39, 0 3326 6040-44 หรือ E-mail: crm_dept@tgi.mail.go.th, Website: www.tgi.or.th, Tiktok: @thaigermaninstitute
