• Skip to main content
  • Skip to secondary menu
  • Skip to primary sidebar
  • Skip to footer
Thai Pack Magazine

Thai Pack Magazine

Thai Pack Magazine

  • Home
  • Activity
    • News
    • Events
  • Articles
    • Articles
    • Intrend
    • Focus
    • Special Scoop
    • Special Area
    • เรื่องเล่าคนทำกล่อง
  • E-Book
  • E-Directory
  • About Us
  • Advertise
  • Contact Us

ถามจริงตอบจัง เรื่องที่ 18: บรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์มะม่วง

May 3, 2024 by Chatticha

Article
อาจารย์มยุรี ภาคลำเจียก

เรื่องที่ 18: บรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์มะม่วง

มะม่วง เป็นผลไม้เมืองร้อนที่นิยมปลูกในบ้านเรา จัดว่าเป็นผลไม้เศรษฐกิจชนิดหนึ่ง นอกจากจะทานสดแล้ว ยังมักทานกับข้าวเหนียวมูนและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น มะม่วงอบแห้ง มะม่วงดอง แยมมะม่วง น้ำมะม่วง เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใด การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมเป็นสิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้ในเชิงการค้า เพื่อให้สามารถรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ได้นานและเอื้ออำนวยต่อการจัดจำหน่าย ผู้ประกอบการรายใหม่ที่เป็น SME มักมีความรู้เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ยังไม่ดีนักและมีคำถามที่รอคำตอบจากผู้รู้เพื่อนำไปใช้ในการสั่งซื้อออกตลาดสินค้า

ถามจริง ตอบจัง ฉบับนี้ ได้รวบรวมคำถามและคำตอบเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์มะม่วงของผู้ประกอบการ 3 ราย ดังนี้

ผู้ประกอบการรายที่ 1

ผู้ถาม: ผมมีสวนมะม่วง มีคนมารับซื้อถึงสวนไปขายกับข้าวเหนียว ผมคิดจะขายเอง แต่ไม่ชอบบรรจุภัณฑ์ที่ใช้อยู่เดิมคือ ใช้กล่องโฟมบรรจุมะม่วงที่หั่นเป็นชิ้น ใช้ถุงพลาสติกบรรจุข้าวเหนียวดังรูป ผมได้ทราบมาว่ากล่องโฟมไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จริงไหมครับ ผมจะใส่มะม่วงในถุงพลาสติกได้ไหมหรือควรใช้บรรจุภัณฑ์ชนิดอื่นจะดีกว่า

ผู้ตอบ: กล่องโฟมมีความปลอดภัยในการบรรจุข้าวเหนียวมะม่วง กล่องที่ใช้แล้วแม้ว่าสามารถรีไซเคิลได้ก็ตาม แต่ไม่มีการแยกและรวบรวมไปรีไซเคิล กลายเป็นขยะที่ไม่ได้รับการจัดเก็บ เพราะโฟมเบามากแต่ปริมาตรมาก กล่องโฟมจึงไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยปริยาย

มะม่วงที่หั่นเป็นชิ้น แม้ว่าจะใส่ในถุงพลาสติกได้ แต่อาจารย์ไม่แนะนำ เพราะมะม่วงสุกมีความนิ่ม ชิ้นมะม่วงในถุงจะเสียรูปและเละง่าย ดูไม่น่ารับประทาน อีกทั้งไม่สะดวกในการตักหรือจิ้มทาน

บรรจุภัณฑ์อื่นที่ดีกว่าถุงพลาสติกคือ กล่องพลาสติก เลือกแบบที่มี 2 ช่อง แยกข้าวเหนียวและมะม่วงบรรจุคนละช่อง ชิ้นมะม่วงจะไม่เสียรูปในขณะเดินทาง ให้ความสะดวกในการตักหรือจิ้มทาน กล่องมีฝาปิดที่แน่นพอควร หากทานไม่หมดก็ปิดฝาเก็บได้ กล่องพลาสติกนี้มีขายทั่วไปสำหรับบรรจุอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานได้แก่ กล่อง Polystyrene (PS) ซึ่งผนังบางไม่แข็งแรง และกล่อง Polypropylene (PP) ซึ่งผนังหนา แข็งแรง สีของกล่องมีทั้งแบบใสและแบบสี เช่น สีขาว สีดำ สีชมพู ดังรูป

อาจารย์แนะนำให้เลือกใช้กล่องพลาสติกใสที่ทำจาก PP เพราะแข็งแรงกว่า วางซ้อนได้ดี อีกทั้งมีการรวบรวมไปรีไซเคิลในเชิงการค้า ผู้บริโภคบางคนล้างกล่องเพื่อใช้ซ้ำสำหรับเก็บอาหารที่แช่ในตู้เย็น กล่อง PP จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ผู้ถาม: ผมจะใช้กล่อง PP ตามที่แนะนำ กล่องนี้สามารถเก็บข้าวเหนียวมะม่วงได้นานเท่าใดครับ

ผู้ตอบ: กล่องพลาสติกดังกล่าวเหมาะกับการซื้อแล้วทานทันที หรือทานภายในเวลา 2-3 ชั่วโมง เนื่องจากมะม่วงสุกที่ปอกเปลือกและหั่นเป็นชิ้นแล้วจะเกิดการเปลี่ยนสีและแฉะง่าย ถ้าต้องการให้เก็บนานขึ้นเป็น 1-2 วัน ปิดฝากล่อง นำไปแช่เย็น

ผู้ถาม: ข้าวเหนียวมูนที่ทานกับมะม่วงทำไมจึงเสียเร็ว ผมต้องการยืดอายุการเก็บเป็น 6 เดือน จะมีวิธีใดครับ

ผู้ตอบ: การเสื่อมคุณภาพของอาหารทุกชนิดถูกกำหนดโดย 1) มีเชื้อจุลินทรีย์เติบโตจนทำให้ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และ 2) มีลักษณะทางกายภาพที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนจนผู้บริโภคไม่ยอมรับ เช่น เกาะกันเป็นก้อน สีเปลี่ยน แยกชั้น มีกลิ่นเหม็น เป็นต้น อาหารต่างชนิดจะเสื่อมคุณภาพยากง่ายต่างกัน เนื่องจากส่วนประกอบและสมบัติของอาหารต่างกัน อันได้แก่ ปริมาณน้ำ ไขมัน โปรตีน ความเป็นกรด

ข้าวเหนียวมูนมีน้ำกะทิผสมอยู่และมีความนุ่ม ดังนั้นจึงจัดได้ว่าเป็นอาหารที่มีปริมาณน้ำและไขมันสูง ปริมาณน้ำในข้าวเหนียวจะทำให้เชื้อจุลินทรีย์สามารถเติบโตได้ดี ส่วนไขมันในข้าวเหนียวจะทำปฏิกิริยากับก๊าซออกซิเจนในอากาศ ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นหืน ปัจจัยที่ทำให้เชื้อเติบโตเร็วหรือช้านอกจากจะขึ้นกับปริมาณน้ำในข้าวเหนียวแล้ว ยังขึ้นกับอุณหภูมิในการเก็บด้วย หากเก็บที่อุณหภูมิห้อง (30-38 องศาเซลเซียส) จะเก็บได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง เพราะเป็นสภาวะที่เชื้อจุลินทรีย์เติบโตได้ดี หากแช่เย็นที่ 0-4 องศาเซลเซียส จะทำให้การเติบโตของเชื้อช้าลง ทำให้เก็บข้าวเหนียวมูนได้นานขึ้นเป็น 2-3 วัน หากแช่แข็งที่อุณหภูมิ -18 ถึง -20 องศาเซลเซียส จะสามารถยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์ได้ ทำให้เก็บข้าวเหนียวได้นานขึ้นเป็น 6-10 เดือน แต่ข้าวเหนียวจะมีกลิ่นเหม็นหืนเนื่องจากไขมันในข้าวเหนียวทำปฏิกิริยากับก๊าซออกซิเจน ดังนั้นจึงต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติป้องกันก๊าซออกซิเจนจากอากาศภายนอกได้ดีด้วย

การแช่แข็งเสียค่าใช้จ่ายสูงมากเพราะต้องควบคุมอุณหภูมิ -18 ถึง -20 องศาเซลเซียส ในทุกขั้นตอนของโลจิสติกส์ตั้งแต่ผลิต ขนส่ง จนถึงจัดจำหน่าย หากสามารถแปรรูปข้าวเหนียวมูนให้กลายเป็นแบบแห้ง (ปริมาณน้ำในข้าวเหนียวต่ำ) จะทำให้เชื้อจุลินทรีย์เติบโตได้ช้าลงมาก อีกทั้งค่าใช้จ่ายโลจิสติกส์ก็ต่ำลงมาก อาจใช้เทคโนโลยีอบแห้งข้าวเหนียวมูนด้วยกระบวนการ Freeze Dry จากนั้นบรรจุข้าวเหนียวแห้งในถุงที่ป้องกันไอน้ำและก๊าซออกซิเจนได้ดีมากเพื่อให้เก็บรักษาข้าวเหนียวแห้งได้นาน 6 เดือน เมื่อจะทานให้เติมน้ำและต้มสักพัก เติมน้ำกะทิสำเร็จรูปเล็กน้อยก็จะได้ข้าวเหนียวที่ทานกับมะม่วงสด เทคโนโลยีการแปรรูปนี้จำเป็นต้องมีการศึกษาพัฒนากระบวนการอบแห้ง ปริมาณน้ำที่เติม และความร้อนในการต้มที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ข้าวเหนียวที่นุ่มพอดีคล้ายหุงสุกใหม่ ถ้าสนใจอาจารย์แนะนำให้คุณติดต่อคณะวิทยาศาสตร์ทางอาหารของมหาวิทยาลัยรัฐ เพื่อขอบริการการพัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตข้าวเหนียวมูนอบแห้ง

ผู้ถาม: น่าสนใจมากครับ ผมจะลองพัฒนาดู เมื่อเร็ว ๆ นี้มีนักธุรกิจคนหนึ่งได้ติดต่อมาหาผมเพื่อให้บรรจุมะม่วงสดทั้งผลจากสวน ส่งไปขายให้เขาเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ผมควรใช้บรรจุภัณฑ์อะไรดี

ผู้ตอบ: การส่งออกมะม่วงสดทั้งผลควรใช้กล่องกระดาษลูกฟูกที่มีการเจาะรูให้ไอน้ำและอากาศเข้าออกได้ เพราะมะม่วงเป็นผลไม้สดที่มีการหายใจและคายน้ำ ควรใช้โฟมตาข่ายหรือกระดาษบาง ๆ หุ้มมะม่วงแต่ละผล เพื่อป้องกันผิวมะม่วงบอบช้ำจากการกระแทกในระหว่างการลำเลียงขนส่ง การออกแบบกล่องกระดาษลูกฟูก รวมทั้งการกำหนดขนาดและจำนวนของรูที่เจาะ มีรายละเอียดมาก อาจารย์แนะนำให้ไปปรึกษาและขอบริการข้อมูลจากศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งมีโครงการพัฒนาเรื่องนี้อยู่แล้ว และสามารถเผยแพร่ได้ ดังรูป

ผลงานการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผักผลไม้สดของศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย

ผู้ถาม: ขอบคุณมากครับ ผมจะนำข้อมูลที่อาจารย์แนะนำไปใช้

ผู้ประกอบการรายที่ 2

ผู้ถาม: หนูผลิตเนื้อมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเสียบไม้ แช่แข็งแบบ IQF แล้วบรรจุในซองพลาสติก จัดจำหน่ายในสภาวะแช่แข็งคล้ายไอศกรีม ราคาขายซองละ 70 บาท ขายในห้างสรรพสินค้าใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซองที่ใช้อยู่ คนขายบอกว่าเป็นฟิล์ม OPP/ MPET/ LDPE ดังรูป เหมาะสมไหม ราคาซองสูงทีเดียว หนูอยากหาซองที่ราคาถูกลงแต่ยังพิมพ์ได้สวยค่ะ

ผู้ตอบ: ผลิตภัณฑ์ของคุณเป็นมะม่วงแช่แข็ง ซึ่งมีโปรตีนและไขมันต่ำ อุณหภูมิแช่แข็ง (-18 ถึง -20 องศาเซลเซียส) จะสามารถป้องกันการเสื่อมคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากเชื้อจุลินทรีย์ได้อยู่แล้ว อีกทั้งไม่เหม็นหืน วัสดุที่ใช้ทำซองจึงไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติในการป้องกันไอน้ำและก๊าซออกซิเจนซึมที่ดีมากนัก ฟิล์มที่ใช้ในปัจจุบัน คือ OPP/ MPET/ LDPE มีคุณสมบัติป้องกันไอน้ำและก๊าซออกซิเจนซึมผ่านได้ดีเกินความจำเป็น ควรเปลี่ยนมาใช้พลาสติกที่ไม่ต้องมีชั้นของ MPET (Metallized PET) จะทำให้ราคาลดลง เช่น ใช้ฟิล์มชั้นเดียว HDPE/ LDPE/ LLDPE ซึ่งนิยมใช้ทำถุงผลไม้แช่แข็ง ทนต่อความเย็นจัดได้ ข้อเสียของฟิล์มชั้นเดียวคือ ต้องพิมพ์ที่ผิวนอกของฟิล์มเพื่อป้องกันหมึกพิมพ์สัมผัสกับอาหาร แต่ทำให้มีโอกาสเกิดการลอกหลุดของหมึกพิมพ์ในระหว่างการขนส่ง ซองจะดูไม่สวย ดังนั้นการใช้ฟิล์มหลายชั้น เช่น OPP/ LDPE จะเหมาะสมกว่า พิมพ์ที่ผิวในของฟิล์มชั้นนอกเพื่อป้องกันการหลุดลอกของหมึกพิมพ์ จะได้คุณภาพการพิมพ์เหมือนซองที่ใช้ปัจจุบันค่ะ

ผู้ถาม: หนูมีแผนส่งออกผลิตภัณฑ์นี้ไปสิงคโปร์ ลูกค้าบอกว่าต้องการซองที่รีไซเคิลได้เพื่อเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฟิล์มที่ใช้อยู่ในปัจจุบันและฟิล์มที่อาจารย์แนะนำสามารถรีไซเคิลได้ไหม ถ้าไม่ได้ จะใช้ฟิล์มอะไรดีคะ

ผู้ตอบ: พลาสติกชนิดเดียวกันสามารถรีไซเคิลได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การระบุชนิดของพลาสติกโดยใช้สัญลักษณ์สากล (ดังรูป) จึงมีความจำเป็นเพื่อให้แยกทิ้งตามชนิดอย่างถูกต้องแล้วรวบรวมเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ฟิล์มที่ใช้อยู่ OPP/ MPET/ LDPE และฟิล์มที่อาจารย์แนะนำ OPP/ LDPE เป็นพลาสติกในกลุ่ม 7 ที่รีไซเคิลไม่ได้ เพราะใช้พลาสติกต่างชนิดมาประกบด้วยกัน หากต้องการให้ฟิล์มรีไซเคิลได้จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นฟิล์มหลายชั้นที่ทุกชั้นเป็นพลาสติกชนิดเดียวกันแต่ต่างเกรด ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า “Mono-Material Film” สามารถพิมพ์ที่ผิวในของฟิล์มชั้นนอกได้ หาฟิล์มที่มีคุณสมบัติปิดผนึกด้วยความร้อนได้ดี ตัวอย่างฟิล์มที่แนะนำได้แก่ OPP/ PP โดยใช้ PP เกรดที่ทนความเย็นในการแช่แข็งได้ โครงสร้างนี้จะรีไซเคิลได้ในกลุ่ม PP พิมพ์สัญลักษณ์รีไซเคิลเลข 5 ที่ด้านหลังของซองด้วยนะคะ ดังตัวอย่างซองไอศกรีมในรูป ราคาซองพลาสติกนี้จะต่ำกว่าซองที่ใช้ในปัจจุบันค่อนข้างมากค่ะ

สัญลักษณ์สากลในการระบุชนิดพลาสติกเพื่อรีไซเคิล กลุ่ม 7 รีไซเคิลไม่ได้
ซองไอศกรีมทำจากฟิล์ม OPP/ PP รีไซเคิลได้ ใช้สัญลักษณ์รีไซเคิลเลข 5

ผู้ถาม: เป็นความรู้ใหม่เลยค่ะ หนูจะรีบไปติดต่อบริษัทผลิตซองเพื่อเปลี่ยนชนิดของฟิล์มตามที่อาจารย์แนะนำ แล้วนำมาทดลองบรรจุ ขอบคุณอาจารย์มาก

ผู้ประกอบการรายที่ 3

ผู้ถาม: ผมมีสวนมะม่วงและมีร้านขายผลิตภัณฑ์มะม่วงในย่านแหล่งท่องเที่ยว กำลังจะผลิตแยมมะม่วงขาย โดยเน้นนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ผมควรใช้บรรจุภัณฑ์อะไรดีครับ

ผู้ตอบ: บรรจุภัณฑ์สำหรับแยมผลไม้ที่นิยมใช้ได้แก่ ขวดแก้วปากกว้างและหลอดบีบ การเลือกใช้ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ขนาดบรรจุ อายุการเก็บ วิธีการบรรจุและปิดฝา ความสะดวกในการใช้ ผู้ซื้อเป้าหมาย ความทันสมัย ราคาบรรจุภัณฑ์ และราคาขายผลิตภัณฑ์

ผู้ถาม: ผมคิดจะใช้ขวดแก้ว เหมาะสมไหมครับ

ผู้ตอบ: ขวดแก้วมีข้อดีตรงใส เห็นผลิตภัณฑ์ ทนทานต่อความร้อนในขณะบรรจุได้ แต่ก็มีข้อเสีย คือ หนัก แตกง่าย และราคาสูง ตัวอย่างผลิตภัณฑ์แยมผลไม้ในขวดแก้ว ซึ่งมักบรรจุแยมที่ 200-300 กรัม ดังรูป

ถ้าต้องการใช้ขวดแก้วแนะนำให้ซื้อขวดแก้วมาตรฐานของผู้ผลิตขวดในประเทศ เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าแม่แบบขวดซึ่งสูงมาก เลือกใช้ฝาโลหะที่ปิดสนิทกับปากขวด จะให้ผลิตภัณฑ์มีอายุการเก็บประมาณ 1 ปี ที่อุณหภูมิห้อง ออกแบบฉลากให้สวยงาม ถ้าแยมมะม่วงของคุณมีสีสวยและสม่ำเสมอ การใช้ขวดแก้วใสจะเห็นผลิตภัณฑ์ ช่วยดึงดูดให้ผู้บริโภคต้องการซื้อได้

ผู้ถาม: ผมได้ทดลองนำขวดแก้วมาบรรจุแยมแล้วครับ ขวดหนักมาก ทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องการซื้อหลายขวด ผมต้องห่อขวดอย่างดีเพื่อป้องกันขวดแตกในระหว่างเดินทาง อาจารย์บอกว่าใช้หลอดพลาสติกได้ หลอดนี้เป็นอย่างไรและดีอย่างไรครับ

ผู้ตอบ: หลอดพลาสติกและฝาฟลิ้ป (ฝาที่สามารถเปิดได้ด้วยมือเดียว) เป็นรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่นิยมใช้ในบ้านเรามาไม่กี่ปีนี้เอง ปัจจุบันมีการใช้กับนมข้นหวาน น้ำผึ้ง ซอสเข้มข้น น้ำพริกเผา และแยมผลไม้ ดังรูป

หลอดพลาสติกนี้ดูผิวเผินเหมือนหลอดเครื่องสำอาง เช่น ครีมทาผิว ครีมนวดผม จริง ๆ แล้วต่างกันที่วัสดุทำหลอด หลอดเครื่องสำอางทำจากพลาสติก PE ส่วนหลอดแยมและอาหารอื่น ๆ ทำจากพลาสติกหลายชั้น ที่ประกอบด้วย PE/ tie/ EVOH/ tie/ PE   จะสังเกตได้ว่ามี EVOH (Ethylene Vinyl Alcohol) อยู่ชั้นกลางซึ่งมีคุณสมบัติเด่นในการป้องกันก๊าซออกซิเจนได้ดีมาก จึงทำให้หลอดสามารถคุ้มครองแยมให้มีอายุการเก็บได้นาน 6-10 เดือน แม้ว่าอายุการเก็บจะสั้นกว่าการใช้ขวดแก้ว แต่มีข้อดีตรงน้ำหนักเบา เหมาะกับการบรรจุแยมที่น้ำหนักบรรจุไม่มาก (100-130 กรัมต่อหลอด ในขณะที่ขวดแก้วบรรจุ 200-300 กรัมต่อขวด) สะดวกในการใช้โดยการบีบโดยไม่ต้องใช้ช้อนตัก จึงถูกสุขลักษณะ นอกจากนี้ยังดูทันสมัยและยกระดับสินค้าได้

ผู้ถาม: หลอดพลาสติกนี้น่าสนใจมากครับ เหมาะกับลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวซึ่งต้องการขนาดบรรจุเล็ก เบา ใช้สะดวก และดูทันสมัย ผมจะหาซื้อหลอดพลาสติกดังกล่าวที่ไหน

ผู้ตอบ: ในประเทศไทยมีบริษัทผลิตหลอดดังกล่าวหลายราย เช่น บริษัท เคบีเอฟอินเตอร์แพ็ค จำกัด ซึ่งมีการผลิตหลอดขนาดมาตรฐานไว้บริการให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย หลอดมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางแน่นอน ต่อบ่าหลอดที่มีรูเปิด (เรียกว่า Orifice) พร้อมฝาปิด ความยาวหลอดแล้วแต่ลูกค้าต้องการ ขนาดที่นิยมคือ เส้นผ่าศูนย์กลางหลอด 35 มิลลิเมตร ความยาว 140 มิลลิเมตร ขนาดรูมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 มิลลิเมตร เปิดปลายหลอดสำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์ ต้องซื้อเครื่องปิดผนึกปลายหลอดมาใช้ และต้องมีการควบคุมการปิดผนึกและตรวจสอบเพื่อไม่ให้ผลิตภัณฑ์รั่วซึม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาบีบหลอด มิเช่นนั้นจะก่อปัญหาในการใช้งานแก่ผู้บริโภคซึ่งอาจส่งผลให้ไม่ซื้อผลิตภัณฑ์นั้นอีกเลย

ถ้าสนใจ ติดต่ออาจารย์ทางอีเมล จะให้เบอร์โทรศัพท์ของฝ่ายขายของบริษัทนี้ให้ เพื่อไปติดต่อรายละเอียดเองนะคะ ควรซื้อหลอดพร้อมฝาในจำนวนน้อยมาทดลองบรรจุผลิตภัณฑ์ก่อน เมื่อได้ผลเป็นที่พอใจ จึงออกแบบพิมพ์ ตกลงราคากับผู้ผลิต และสั่งซื้อในจำนวนมากมาใช้บรรจุแยมมะม่วงเพื่อออกตลาด

ผู้ถาม: ขอบคุณอาจารย์ มีประโยชน์มากครับ

บทความของวารสารบรรจุภัณฑ์ไทยไม่ได้มีเพียงเท่านี้ พวกเรายังมีเรื่องราวที่น่าสนใจให้ติดตามในเล่มอีกเพียบ อ่านต่อกันได้ที่ >> E-BOOK #164

facebookShare on Facebook
TwitterTweet

Filed Under: Articles, Articles Tagged With: แยมผลไม้, ซองไอศกรีม, กล่องพลาสติก, พลาสติก, บรรจุภัณฑ์, packaging, ขวดแก้ว, ถามจริงตอบจัง, มะม่วง, ข้าวเหนียวมะม่วง

Primary Sidebar

New E-Book

THAI PACKAGING NEWSLETTER #171 May-June 2025

THAI PACKAGING NEWSLETTER #170 March-April 2025

THAI PACKAGING NEWSLETTER #169 January-February 2025

  • Facebook

ADVERTISING

Footer

Exclusive Clients

Recent

  • “โคคา-โคล่า” ชวนผู้บริโภคร่วมโครงการ “โค้ก” ชวนแยก แลกลุ้นโชค กับ Trash Lucky ปีที่ 5 ลุ้นรางวัลกว่า 2 ล้านบาท July 9, 2025
  • วว. จับมือ NEO นำ วทน. ขับเคลื่อนเครือข่ายจัดการขยะแบบองค์รวม มุ่งลดปัญหาสิ่งแวดล้อม July 8, 2025
  • พันธมิตรหนุน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ขยายงาน ProPak Asia สู่ระดับโลก ล่าสุดประกาศย้ายงานฯ ไป อิมแพ็ค เมืองทองธานี July 7, 2025
  • เริ่มต้นสร้างแบรนด์บนบรรจุภัณฑ์อย่างไร: คู่มือสำหรับธุรกิจใหม่ (1) July 4, 2025
  • ปรับงานให้ปัง!!! ศิลปะการให้และรับ Feedback สำหรับนักออกแบบ July 2, 2025
  • มุ่งสู่การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน และขับเคลื่อนอนาคตของภูมิภาคเอเชียแป-ซิฟิก June 27, 2025
  • เอปสัน เปิดตัวเครื่องพิมพ์ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลและโปรเจคเตอร์รุ่นใหม่ สนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน June 27, 2025

Search

TECHNOLOGY MEDIA CO.,LTD.

471/3-4 Phayathai Place, Sri-Ayutthaya Road, Tung Phayathai Ratchatewi, Bangkok 10400

Tel. 0-2354-5333, 0-2644-4555

thaipackaging.mkt@gmail.com

Copyright © 2025 · Magazine Pro on Genesis Framework · WordPress · Log in