ในปัจจุบันการใช้โฟมสำหรับบรรจุภัณฑ์มีหลากหลาย ได้แก่ โฟมผลิตจากโพลีสไตรีน ที่ได้จาก Expandable Polystyrene (EPS) เป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดหนึ่งที่เกิดจากผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตปิโตรเลียม มาในรูปเม็ดพลาสติกเรซิ่น เมื่อผสมสารพองตัว (Blowing Agent) ก๊าซเพนเทน (Pentane) ซึ่งเป็นสารประกอบคาร์บอนตามธรรมชาติ ผ่านกระบวนการให้ความร้อนจากไอน้ำ (Steam) เกิดเป็นเม็ดโฟม EPS สีขาว ที่ใช้บรรจุภัณฑ์กันกระแทก หรือขึ้นรูปเป็นกล่องโฟม ซี่ง EPS เหล่านี้ไม่สามารถย่อยสลายหรือทำลายได้ง่าย หากนำไปเผาก่อมลพิษทางอากาศอย่างรุนแรง การจัดการขยะทำได้ยาก ดังแสดงในรูปที่ 1, 2, 3



นวัตกรรมด้านโฟมบรรจุภัณฑ์ในปัจจุบัน มีการศึกษาวิจัยพัฒนา สามารถนำมาใช้งานโฟมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โฟมเหล่านี้มีน้ำหนักเบา กล่าวคือมีความหนาแน่น 10-50 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ได้แก่ โฟมจากแป้งข้าวโพด (Corn Starch Foam) ดังรูปที่ 4 ที่ละลายน้ำได้เรียกว่า โฟมที่มองไม่เห็น (Invisible Foam) ที่หลังจากใช้งานแล้วนำไปละลายน้ำได้โดยไม่เหลือร่องรอยของโฟม ลดภาระการกำจัดเศษโฟมจากบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กันกระแทก

โฟมจากเยื่อกระดาษ (Cellulose Foam) ที่นำไปรีไซเคิล (Recycle) ร่วมกันกับเศษกระดาษได้ ดังรูปที่ 5 อยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนาโดยบริษัท SCGP โดยใช้เส้นใยเยื่อกระดาษจากไม้ยูคาลิปตัสหรือไม้กัญชงเป็นวัตถุดิบหลัก โฟมชนิดนี้สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเหมือนกระดาษ มีการพัฒนาสูตรให้กันน้ำได้ นอกจากนี้ยังมีไบโอโฟม (Biofoam) ดังรูปที่ 6 ที่ผลิตจาก PLA (Polylactic Acid) ที่เป็นโพลิเมอร์ชนิดเทอร์โมพลาสติก (Thermoplastic) เตรียมได้จากแป้งหรืออ้อย มีการวิจัยพัฒนาในแถบประเทศยุโรป และเริ่มต้นทดลองผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ในประเทศจีน เมื่อต้น พ.ศ. 2566 มีจุดเด่นคือ เป็นโฟมที่ย่อยสลายแบบการย่อยสลายทางชีวภาพในอุตสาหกรรม (Industrially Compostable) หมายถึง ในภาวะที่มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ (55-60 องซาเซลเซียส) พร้อมกับมีความชื้นสัมพัทธ์สูงและมีออกซิเจน ซึ่งภาวะดังกล่าวถือเป็นภาวะที่ทำให้การย่อยสลายทางชีวภาพมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อเทียบกับภาวะในธรรมชาติทั่วไป ในด้านคุณสมบัติของโฟมเทียบเท่าโฟม EPS มีความแข็งแรง สามารถขึ้นรูปเป็นกล่องโฟมและใช้งานได้ดี กันกระแทก มีความแข็งแรงสูง รับน้ำหนักได้ดี ทนน้ำได้ สามารถใช้เป็นลังโฟมบรรจุภัณฑ์ใส่น้ำแข็งที่บรรจุยา วัคซีน หรืออาหารแช่แข็ง อาหารสดที่ต้องการรักษาอุณหภูมิ ไบโอโฟมสามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก มีความแข็งแรงมาก ซึ่งจะช่วยให้โฟมที่ผลิตได้มีความแข็งแกร่งและมีน้ำหนักเบาเท่ากับ EPS ช่วยลดน้ำหนักส่วนเกินในการขนส่งและช่วยในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน
นวัตกรรมโฟมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โฟมชีวภาพที่มีการวิจัยพัฒนา ออกแบบ ที่กล่าวมาข้างต้นมีการวิจัยพัฒนาในหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบเม็ด (Bead) บล็อก แบบม้วน และแผ่นโฟมชีวภาพแบบยืดหยุ่น ได้รับการออกแบบมาเพื่อผสานรวมเข้ากับบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ได้ นอกจากนี้ยังสามารถตัดด้วยไดคัต รีดด้วยความร้อน และปั๊มในรูปแบบที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งานในบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ส่งเสริมการรักษ์โลก ลดโลกร้อน ลด Carbon Footprint สร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ตามหลักการของ ESG เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance จึงเป็นกรอบการพัฒนาที่ใช้ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน สอดล้องกับเป้าหมาย “ความยั่งยืน” ของภาคธุรกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนโลก (Sustainable Development Goals: SDGs)


ตารางที่ 1 การเลือกใช้โฟมตามคุณสมบัติให้เหมาะสมกับบรรจุภัณฑ์


บทสรุป นวัตกรรมโฟมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นวัตกรรมโฟมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่ต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดปริมาณขยะเท่านั้น แต่ยังเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับโลกของเรา
การใช้งานโฟมย่อยสลายได้แต่ละชนิด ทางผู้บริโภคที่จะเลือกนำไปใช้งาน ขึ้นอยู่กับสินค้าที่จะนำมาบรรจุลงในกล่องโฟม ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ทั้งนี้ ยังต้องคำนึงถึงการนำไปจัดการขยะหลังจากการใช้งาน เช่น รีไซเคิล การนำกลับไปใช้ซ้ำได้อย่างเหมาะสม เพื่อลดเศษขยะจากโฟม ลดมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนให้กับโลก
เอกสารอ้างอิง
1) Sulong and et al., Application of expanded polystyrene (EPS) in buildings and constructions: A review, J. Appl. Polym. Sci. 2019
2) Starch foam ZOUCH ecoCell https://youtu.be/YPj4TrvBAyY
3) PLA foam, biofoam , https://www.useon.com/foam-extrusion/biodegradable-pla-foam-beads-production-line/
4) Mubarak et al., Progress in the Preparation, Properties, and Applications of PLA and Its Composite Microporous Materials by Supercritical CO2: A Review from 2020 to 2022. Polymers (Basel). 2022 Oct 14;14(20):4320
บทความโดย
อรวรรณ พาณิชย์เจริญ
ผู้จัดการ ศูนย์พัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (SCGP)