บทความโดย รศ. ดร.สุชปา เนตรประดิษฐ์

ปัจจุบัน คณะกรรมาธิการสภาสหภาพยุโรป ได้นำเสนอมาตรการที่ท้าทายสำหรับการจัดการขยะในทะเลที่มาจากผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-Use) ซึ่งมักพบบนชายหาดในยุโรป เป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้โดยใช้ออกโซ (Oxo-Degradation) หรือแตกสลายด้วยความร้อน แสงแดด และออกซิเจน ซึ่งไม่ใช่ย่อยสลายทางชีวภาพ แต่เป็นเพียงพลาสติกธรรมดาที่ใส่สารเติมแต่งเพื่อให้เปราะมากขึ้น แตกตัวเป็นชิ้นเล็ก (Fragmentation) เป็นไมโครพลาสติกเร็วขึ้น จากหลัก 100 ปี เหลือเพียงไม่กี่ปีก็ปนเปื้อนเข้าไปในน้ำ หิน ดิน ทราย หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตได้ง่าย ที่สำคัญใช้ซ้ำไม่ได้เพราะยุ่ยเปื่อยเร็ว รีไซเคิลไม่ได้เพราะเปราะบางเกินไป รวมทั้งก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อีกด้วย จึงมีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use Plastic) ที่ก่อให้เกิดปัญหาขยะในปริมาณมากขึ้นทุกวัน ทำให้สหภาพยุโรปเป็นแนวหน้าในการต่อสู้กับขยะในทะเลทั่วโลก โดยพยายามคิดค้นวัสดุทางเลือกอื่นที่หาได้ง่ายและราคาไม่แพง เช่น วัสดุที่ทำจากพืชหรือวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ทำให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวกำลังจะห้ามใช้ เช่น ช้อน ส้อม จาน และหลอด สำหรับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จะมุ่งเน้นลดการบริโภคในประเทศ เพิ่มข้อกำหนดในการออกแบบและการติดฉลาก รวมถึงการมอบภาระให้ผู้ผลิตรับผิดชอบในการจัดการของเสียที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตนเอง

กฎระเบียบใหม่จะช่วยปกป้องสุขภาพของผู้คนและปกป้องสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของเรา ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนมากขึ้น ในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นั้น ต้องลดปริมาณขยะพลาสติก และทำให้แน่ใจว่าจะมีการรีไซเคิลพลาสติกส่วนใหญ่ที่ใช้ รวมถึงมีวิธีการผลิตที่เป็นนวัตกรรมและยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งจะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่ธุรกิจในยุโรป เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การเติบโต และการสร้างงาน กฎระเบียบใหม่นี้ไม่เพียงแต่จะจัดการกับมลพิษจากพลาสติกเท่านั้น แต่ยังทำให้สหภาพยุโรปเป็นผู้นำระดับโลกในด้านนโยบายพลาสติกที่ยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป
หลอดหรือส้อมพลาสติกเป็นวัตถุชิ้นเล็ก ๆ แต่สามารถสร้างความเสียหายได้มากและยาวนาน กฎหมายพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจะจัดการกับขยะในทะเลได้ร้อยละ 70 เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจมีมูลค่าถึง 22 พันล้านยูโรภายใน พ.ศ. 2573 จึงมีการห้ามผลิตภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวบางประเภทที่ทำจากพลาสติก ได้แก่ สำลีก้าน ช้อน ส้อม จาน หลอด ที่กวนกาแฟ แท่งสำหรับยึดลูกโป่ง รวมถึงถ้วย ภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่ทำจากโพลีสไตรีน (โฟม) รวมทั้งยกเลิกผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ทำจากพลาสติกย่อยสลายได้โดยใช้ออกโซ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดการบริโภคโดยใช้ภาชนะบรรจุอาหารและถ้วยเครื่องดื่มที่ทำจากพลาสติก การทำเครื่องหมายและการติดฉลากเฉพาะของผลิตภัณฑ์บางประเภท การสร้างความรับผิดชอบของผู้ผลิตซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตน
สหภาพยุโรปได้กำหนดเป้าหมายการรวบรวมและแยกชนิดขวดพลาสติก 90% ภายใน พ.ศ. 2572 (77% ภายใน พ.ศ. 2568) และข้อกำหนดการออกแบบเพื่อเชื่อมต่อฝากับขวด รวมถึงเป้าหมายที่จะรวบรวมพลาสติกรีไซเคิล 25% สำหรับขวด PET ตั้งแต่ พ.ศ. 2568 และ 30% สำหรับขวดพลาสติกทั้งหมด ตั้งแต่ ค.ศ. 2030 ประเทศสมาชิกจะต้องแปลงกฎหมายดังกล่าวให้เป็นกฎหมายประจำชาติของตน ได้แก่ การออกแบบขวดพลาสติกที่มีฝาปิดแบบผูกติดอยู่กับภาชนะบรรจุเครื่องดื่มทั้งหมด ที่มีความจุไม่เกิน 3 ลิตร ภายใน 5 ปีหลังจากที่กฎระเบียบ “EU Bottle Cap Regulation” จากนั้น ผู้ผลิตได้ดำเนินการระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ไปแล้ว ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางที่คล้ายกันกับข้อกำหนดถุงพลาสติก ค.ศ. 2015 ที่ประสบความสำเร็จ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในพฤติกรรมผู้บริโภค เมื่อนำมาตรการใหม่มาใช้ จะเป็นประโยชน์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ อาทิ หลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 3.4 ล้านตัน หลีกเลี่ยงความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งจะมีมูลค่าเทียบเท่ากับ 22 พันล้านยูโร ภายใน พ.ศ. 2573 เป็นต้น
EU Bottle Cap Regulation กำหนดให้ฝาขวดพลาสติกทั้งหมดผูกติดอยู่กับขวดหลังจากเปิดแล้ว ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดูเหมือนเล็กน้อย และอาจมีผลกระทบใหญ่หลวง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดขยะและรับรองว่ามีการรวบรวมและรีไซเคิลฝาพลาสติกพร้อมกับขวด เมื่อสหภาพยุโรปประกาศกฎดังกล่าวครั้งแรกใน ค.ศ. 2018 อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนที่อาจเกิดขึ้น และความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามข้อกำหนด การออกแบบสายการผลิตใหม่เพื่อรองรับฝาปิดแบบผูกถือเป็นภาระทางการเงินที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ผลิตรายเล็ก บริษัทบางแห่งแย้งว่า ฝาแบบผูกอาจนำไปสู่การใช้พลาสติกโดยรวมเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากต้องใช้วัสดุเพิ่มเติมเพื่อยึดฝาไว้ นอกจากนี้ยังมีความท้าทายด้านโลจิสติกส์ เช่น การเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์บรรจุขวดและกระบวนการเพื่อจัดการกับการออกแบบฝาใหม่

การออกแบบฝาพลาสติกบนขวดเครื่องดื่มแบบใหม่ ช่วยให้การหมุนฝาเกลียวออกจนสุด ยังมีแถบพลาสติกพิเศษที่เชื่อมต่อฝาปิดเข้ากับขวด แม้จะมีความท้าทายเหล่านี้ แต่บริษัทหลายแห่งก็ยังคงเปิดรับการเปลี่ยนแปลงในเชิงรุก เช่น Coca-Cola ได้ลงทุนในเทคโนโลยีใหม่และออกแบบกระบวนการบรรจุขวดใหม่ ในขณะที่บริษัทอื่น ๆ กำลังทดลองใช้วัสดุและการออกแบบที่แตกต่างกันเพื่อค้นหาวิธีการที่ยั่งยืนและคุ้มค่าที่สุด Coca-Cola จึงได้เปิดตัวการออกแบบนี้ไปทั่วยุโรปในปีที่แล้ว (2023) Agnese Filippi ผู้จัดการของ Coca-Cola Ireland กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้มีศักยภาพที่จะส่งผลกระทบครั้งใหญ่ โดยทำให้มั่นใจว่าผู้บริโภคจะรีไซเคิลขวดของเราและไม่เหลือฝาปิดใด ๆ

แนวทางการรีไซเคิลขวดพลาสติก PET
การรีไซเคิล (Recycle) เป็นการแปรรูปวัสดุจากบรรจุภัณฑ์ที่เป็นของเสียหรือบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ให้กลับมามีคุณภาพเทียบเท่าหรือใกล้เคียงเดิม หรือให้ได้วัตถุดิบกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ เพื่อลดปริมาณการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เป็นวัตถุดิบ และลดปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์ พลาสติกที่รีไซเคิลได้ต้องมีสมบัติเป็น Thermoplastic หมายถึงเป็นพลาสติกที่อ่อนตัวเมื่อถูกความร้อนและแข็งตัวเมื่อเย็นลง พลาสติกประเภทนี้จึงสามารถนำมาหลอมและขึ้นรูปใหม่ได้ ได้แก่ PE, PP, PS, PVC, PET
ในบรรดาพลาสติกประเภท Petroleum-Base ทั่วไป Polyethylene Terephthalate (PET หรือ PETE) มีความโดดเด่นในการนำไปใช้ผลิตเป็นขวดเครื่องดื่ม ภาชนะบรรจุอาหาร และเส้นใยสังเคราะห์อย่างแพร่หลาย เราจะพบขวด PET ในชีวิตประจำวัน เช่น ขวดน้ำดื่ม ขวดโซดา ขวดใส่เนยถั่ว ขวด PET ซึ่งได้รับความนิยมเพราะมีน้ำหนักเบา แข็งแรง และทนทานต่อแรงกระแทก สามารถทนความเป็นกรดและสามารถกันการซึมผ่านออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งหมายความว่าอาหารและเครื่องดื่มจะคงความสด มีอายุการเก็บได้นานขึ้น โดยการปกป้องจากออกซิเจนและความชื้น และปลอดภัยสำหรับการใช้บรรจุอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากไม่ทำปฏิกิริยากับอาหารและเครื่องดื่มภายใน ทำให้มั่นใจได้ว่ารสชาติและคุณภาพจะไม่เปลี่ยนแปลง ข้อดีอย่างหนึ่งของขวดพลาสติก PET คือ ความสามารถในการรีไซเคิลได้ง่าย 100% ซึ่งจะช่วยลดขยะของเสียและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ PET สามารถนำไปรีไซเคิลได้สูงสุดถึง 10 ครั้ง นอกเหนือจากการใช้งานแล้ว PET ยังคุ้มค่าในการผลิตและสามารถขึ้นรูปได้ง่ายอีกด้วย



สำหรับประเทศไทย พบว่าในอดีตที่ผ่านมามีการผลิตขวดน้ำพลาสติกประมาณ 6,000 ล้านขวดต่อปี แต่มีเพียง 9% เท่านั้นที่ถูกนํากลับมารีไซเคิล ปัจจุบัน บริษัท ไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป หนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมรีไซเคิลขวด PET สามารถรีไซเคิลขวดน้ำพลาสติก PET ได้มากถึง 1,500 ล้านขวดต่อปี โดยรับซื้อขวดน้ำพลาสติกจากร้านขายของเก่าทั่วประเทศ นำมาผ่านกระบวนการคัดแยกสิ่งเจือปน และเข้าสู่ขั้นตอนตัดบด ล้างน้ำร้อนทำความสะอาดด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัย และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ก่อนจะป้อนเข้าสู่กระบวนการแปรรูป ‘เม็ดพลาสติก’ กลายเป็น rPET (Recycled Polyethylene Terephthalate)
สำหรับขวดน้ำดื่ม PET ที่มีความใส ไร้สี จะเอื้ออำนวยต่อการรีไซเคิลแบบ Bottle-to-Bottle มากที่สุด ซึ่งทำให้ได้ rPET แบบ Food-Grade ที่สามารถสัมผัสอาหารและเครื่องดื่มได้ตามมาตรฐาน FDA ถือเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อคืนสภาพแก่วัสดุต่าง ๆ ในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) แทนที่จะทิ้งเป็นขยะเมื่อสิ้นสุดการบริโภค ทำให้เกิดการหมุนเวียนเป็นวงจรต่อเนื่องโดยไม่มีของเสีย (Zero Waste) ช่วยลดต้นทุนในการผลิตขวดใหม่จากวัตถุดิบใหม่ที่ได้จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งพบว่าการรีไซเคิลขวดพลาสติก 1 ตัน ช่วยประหยัดน้ำมันดิบได้มากถึง 3.8 บาร์เรล (ประมาณ 604 ลิตร) และช่วยประหยัดพื้นที่ในการฝังกลบขยะได้มากถึง 5.7 ลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้
ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เอื้อต่อการรีไซเคิลขวดเครื่องดื่ม ได้แก่ ยกเลิกการพิมพ์หรือใส่สีลงไปบนขวดโดยตรง อาจใช้ฉลากพันรอบหรือหดรัดขวดที่สามารถดึงแยกออกได้ง่าย ออกแบบให้ใช้วัสดุหรือพลาสติกชนิดเดียวกัน (Mono-Material) นอกจากนี้ ควรมีการรณรงค์ให้ผู้บริโภคสนับสนุนการรีไซเคิล เพื่อช่วยลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ (PET) และกระตุ้นให้เกิดการใช้เม็ดพลาสติกเก่าจากการรีไซเคิล (rPET) เพิ่มขึ้น ซึ่งทางภาครัฐก็ควรจัดการให้มีระบบจัดเก็บขวดพลาสติกใช้แล้วหรือรับคืนมากขึ้น ประเทศไทยมีการจัดถังขยะสีเหลืองสำหรับการแยกทิ้งขยะรีไซเคิล เพียงสังเกตสัญลักษณ์ที่มีลักษณะลูกศรวน และก่อนทิ้งให้เทน้ำหรือของเหลวออกให้หมด ใช้มือบิดหรือบีบให้มีขนาดเล็กเพื่อประหยัดพื้นที่ในถังขยะ หากมีสิ่งสกปรกควรทำความสะอาดและตากให้แห้ง



สำหรับในต่างประเทศ ส่วนใหญ่มีตู้รับคืนขวดโดยอัตโนมัติ (Reverse Vending Machine) จำนวนมากมาย เห็นอยู่ทั่วไปมานานแล้ว ในที่สุดนวัตกรรมรับคืนขวดแบบนี้ก็ได้มาอยู่ในบ้านเราแล้ว เรียกว่า “ตู้หยอดรับทรัพย์” หวังกระตุ้นภาคการผลิตและผู้บริโภคให้หันมาเพิ่มการรีไซเคิล โดยนำเทคโนโลยีคลาวด์และ AI มาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพวัสดุ และคัดแยกประเภทบรรจุภัณฑ์ ทั้งขวด พลาสติกใส กระป๋องอะลูมิเนียม รวมถึงขวดแก้ว เพื่อให้การทำงานมีความแม่นยำ สามารถนำไปรีไซเคิลหรือรียูสได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการคืนกำไรให้แก่ผู้ที่ร่วมนำบรรจุภัณฑ์มาคืนในรูปแบบต่าง ๆ เพียงหยอดขวดหรือบรรจุภัณฑ์ในตู้ จะสามารถเลือกรับเป็นเงินหรือรับคะแนนสะสม เพื่อไปแลกรับส่วนลดจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดง่าย ๆ โดย CircularOne หรือตู้หยอดรับทรัพย์ มีแผนติดตั้งในหลากหลายพื้นที่ เช่น อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ แหล่งที่พักอาศัย สถานศึกษา โรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ

การจัดการกับขวดพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง
Single-Use Plastic Bottle หรือขวดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นพลาสติกที่ใช้งานเพื่ออำนวยความสะดวกในระยะเวลาสั้น ๆ แต่กว่าจะย่อยสลายนั้นใช้เวลานานมากกว่า 450 ปี ขวดพลาสติกเป็นภาชนะที่มีช่องเปิดแคบเมื่อเทียบกับตัวขวด และมักมีฝาเกลียว ขวดพลาสติกที่มีป้ายกำกับหมายเลข 1 (PET) หรือ 2 (HDPE) นิยมนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล แต่ต้องขันฝาขวดกลับเข้าที่ให้แน่นจึงจะสามารถรีไซเคิลได้ ไม่ควรใส่ฝาปิดที่หลวมในขณะทิ้งลงถังขยะประเภทรีไซเคิล ขวดที่ยอมรับกันทั่วไป ได้แก่ ขวดน้ำ น้ำผลไม้ น้ำสลัด และขวดใส่เนยถั่ว สำหรับขวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารที่ยอมรับ ได้แก่ แชมพู ครีมนวดผม ครีมอาบน้ำ น้ำยาล้างจาน วิตามิน และขวดน้ำยาทำความสะอาดในครัวเรือน

ในการรีไซเคิลขวดอย่างถูกต้องขวดพลาสติกจะต้องว่างเปล่า สะอาด และแห้ง ยึดฝาพลาสติกกลับเข้าที่ขวดให้แน่น อย่าใส่ฝาพลาสติกที่หลวมลงในถังรีไซเคิลริมถนน เพราะฝาปิดที่หลวมมีขนาดเล็กเกินไปที่จะผ่านกระบวนการคัดแยกรีไซเคิล และจะหล่นผ่านรอยแตกของเครื่องจักร ส่งผลให้เป็นขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ การขันฝาขวดกลับเข้าที่เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถนำไปรีไซเคิลได้นั่นเอง ส่วนภาชนะพลาสติกที่มีป้ายรีไซเคิลกำกับ หมายเลข 3, 4, 6 หรือ 7 ยังไม่ยอมรับที่จะนำไปรีไซเคิล เนื่องจากส่วนใหญ่จะมีการปนเปื้อนและเพิ่มต้นทุนในการรีไซเคิล
การรีไซเคิลพลาสติกเป็นเรื่องที่น่าสับสน ดังนั้น ทุกคนควรทำความเข้าใจกับบทบาทของตนในการรีไซเคิลพลาสติกต่อไป
