In Trend
สมชนะ กังวารจิตต์

Diversity and Inclusivity การออกแบบสำหรับความเท่าเทียมและความหลากหลายคืออะไร?
สีผิว เชื้อชาติ ความเท่าเทียม ทุพพลภาพ เพศสภาพ เหล่านี้เป็นสิ่งที่โลกกำลังมองหาและอยากที่จะช่วยกันแก้ไข
เทร็นด์ใหม่ของการออกแบบจะมุ่งสร้างผลิตภัณฑ์ สภาพแวดล้อม การใช้งาน และเทคโนโลยีที่ผู้คนหลากหลายสามารถเข้าถึงได้และใช้งานได้โดยง่าย รวมถึงผู้ที่มีความต้องการเฉพาะทางและความสามารถที่ไม่ปกติ
เป้าหมายหลักของการออกแบบเหล่านี้คือ การที่ไม่แบ่งแยก เราต้องออกแบบโดยทำลายอุปสรรค เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ ความสามารถทางด้านกายภาพ เพศ หรือชาติกำเนิด ซึ่งต้องทำให้คนเหล่านี้สามารถมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน
ปัจจุบันในสังคมที่มีความหลากหลายมากขึ้น การออกแบบที่ครอบคลุมนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญ จากการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าผู้คนมากกว่า 1 พันล้านคนในโลก มีชีวิตอยู่กับความพิการ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีกำลังซื้อเกิน 8 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานเศรษฐศาสตร์ความพิการทั่วโลก ถ้าแบรนด์ใดที่สามารถผสมผสานการออกแบบที่ครอบคลุมเข้ากับ DNA ของพวกเขาได้ จะไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความจำเป็นด้านจริยธรรมไปพร้อมกับการขยายฐานผู้บริโภคของพวกเขา แต่ยังมีส่วนช่วยสร้างสังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้นอีกด้วย
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความหลากหลายและการไม่แบ่งแยกได้ย้ายไปสู่กระแสหลักของการออกแบบบรรจุภัณฑ์มากขึ้น เช่น การร่วมมือกับคนผิวดำ หรือการร่วมมือกับ LGBTQ ส่วนใหญ่แบรนด์จะบอกเล่าเรื่องราวผ่าน LTO (Limited Time Offer) แต่สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้เป็น Limited Edition นั้นมีความเคลื่อนไหวเหมือนกัน เช่น Uncle Ben’s ที่ปัจจุบันคือ Ben’s Original และป้า Jemima’s ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Pearl Milling Company เพราะในต่างประเทศนั้นต้องการใช้การออกแบบใหม่มาแก้ไขปัญหาทัศนคติเรื่องการเหยียดเชื้อชาติมานานนับหลายทศวรรษแล้ว

วันนี้ผมจะมาสร้างแรงบันดาลใจพร้อมตัวอย่างต่าง ๆ เพื่อที่จะกระตุ้นให้สังคมไทยอย่างบ้านเราหันมาสนใจในเรื่องเหล่านี้ด้วย เพราะจะทำให้ความหมายของบรรจุภัณฑ์เป็นมากกว่าเพียงบรรจุภัณฑ์
ในฐานะนักออกแบบเราตระหนักดีถึงพลังของบรรจุภัณฑ์ในการดึงดูดผู้บริโภคมาโดยตลอด แต่แนวโน้มการไม่แบ่งแยกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ถูกเร่งให้เร็วขึ้นจากการแพร่ระบาดได้กระตุ้นให้แบรนด์ต่าง ๆ ออกแบบด้วยจิตสำนึกทางสังคม บรรจุภัณฑ์เป็นจุดสัมผัสที่ทรงพลังในการสื่อสารกับตลาดในวงกว้าง จะสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับผู้บริโภค การปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของตลาดและสอดคล้องกับกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย จะทำให้แบรนด์ยั่งยืนมากขึ้นในภายหลัง

แบรนด์ไอศกรีม Ben & Jerry’s เป็นผู้บุกเบิกแนวทางนี้ ด้วยการสร้างเสียงของนักเคลื่อนไหวที่พูดถึงความไม่สมดุลทางสังคม แบรนด์ได้สร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์และเปิดตัวดีไซน์ “Change is Brewing” คือการช่วยปกป้องสิทธิในการลงคะแนนเสียง และสนับสนุนให้ผู้มีสิทธิเลือกของคนผิวดำรุ่นใหม่ออกมาใช้สิทธิ์ก่อนการเลือกตั้งจริง ซึ่งรสชาตินั้นจะทำขึ้นมาใหม่ ส่วนผสมต่าง ๆ มาจากธุรกิจองค์กรความยุติธรรมทางสังคมที่มีเจ้าของเป็นคนผิวดำและไม่แสวงหาผลกำไร

หรือแม้กระทั่ง Band-Aid ซึ่งแบรนด์ของ Johnson & Johnson ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ผ้าพันแผลโทนสีผิว เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความหลากหลายและสนับสนุนผู้ที่ประท้วงเพื่อความเท่าเทียมทางเชื้อชาติภายหลังการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ชาวแอฟริกันในอเมริกาที่หลากหลาย เพื่อที่จะยอมรับความหลากหลายทางด้านสีผิว ยืนหยัดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับเพื่อนร่วมงานผิวดำ และชุมชนในการต่อสู้กับการเหยียดเชื้อชาติ ความรุนแรง และความอยุติธรรม เป็นการก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงแค่นั้น แบรนด์ Band-Aid ยังบริจาค 100,000 ดอลลาร์ ให้แก่มูลนิธิ Black Lives Matter เพื่อต่อสู้กับการเหยียดเชื้อชาติและความอยุติธรรมในสหรัฐอเมริกา

Always Discreet ร่วมมือกับเทคโนโลยี NaviLens เพื่อให้ผู้หญิงทุกคนที่ประสบปัญหากระเพาะปัสสาวะรั่ว สามารถค้นหาผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาต้องการบนชั้นวางได้ดียิ่งขึ้น
NaviLens คือ แอปพลิเคชันที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการทางสายตา เป็น QR Code ปกติแล้ว NaviLens จะติดไว้ในพื้นที่สาธารณะ เมื่อนำมือถือไปสแกน จะแสดงข้อมูลต่าง ๆ ออกมาเป็นเสียง มีถึง 6 ภาษา ปัจจุบันมีการเพิ่ม NaviLens ลงไปบนบรรจุภัณฑ์ และเมื่อลูกค้าเดินเข้าไปในร้าน แอปพลิเคชันจะมีเสียงเตือนเพื่อนำทางไปยังผลิตภัณฑ์ที่ติด QR NaviLens อีกทั้งยังสามารถอ่านออกเสียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ได้โดยละเอียด ถือเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการทางสายตา เพราะในสหราชอาณาจักรมีผู้คนมากกว่า 2 ล้านคน ที่สูญเสียการมองเห็น และ 340,000 คน มีทะเบียนเป็นคนตาบอดหรือความบกพร่องทางสายตาบางส่วน ผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัยและกางเกง Always Discreet ในปัจจุบันมี NaviLens อยู่ที่ด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่อง เพราะเขาเชื่อว่าทุก ๆ คนมีสิทธิ์ที่จะรู้ว่าพวกเขากำลังซื้ออะไร ดังนั้นด้วยการผสาน NaviLens เข้ากับด้านหน้าของแพ็กเกจ Always Discreet นอกจากจะช่วยส่งเสริมสิ่งนี้สำหรับทุกคนแล้ว แบรนด์ยังเข้าร่วมเป็นพันธมิตรนำร่องเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นก้าวแรกในการปรับปรุงการเข้าถึงและการเป็นตัวแทนในการออกแบบผลิตภัณฑ์และการตลาด

หรือแม้กระทั่งแบรนด์น้ำดื่มไร้ฉลาก C2 ได้สร้างโซลูชันบรรจุภัณฑ์อักษรเบรลล์ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น จุดของอักษรเบรลล์จะยกขึ้นด้วยการปั๊มนูนลงบนพื้นผิวขวด บริเวณตำแหน่งไหล่ของขวด เพื่อการสังเกตที่ง่ายขึ้น “แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะพบอักษรเบรลล์ในผลิตภัณฑ์ทั่ว ๆ ไป เพียงแค่เราใส่ใจและคำนึงถึงคนตาบอดเท่านั้นก็จะทำให้คนเหล่านี้มีคุณค่ายิ่งขึ้น”

โอเลย์เปิดตัว Easy Open Lid ครั้งแรก โดยออกแบบมาเพื่อดึงดูดผู้บริโภคในวงกว้าง เพื่อตอบความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค ทั้งผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านการมองเห็น บกพร่องด้านกล้ามเนื้อมือและแขนขาที่แตกต่างกัน Olay ได้ทำบรรจุภัณฑ์ด้วย Easy Open Lid ฝาปิดที่ออกแบบมาสำหรับขวดครีม มีตัวอักษรเบลลล์ วัสดุด้าน และขอบแบบปีกเพื่อการหยิบจับที่ดียิ่งขึ้นมาก ตลอดจนการติดฉลากที่มีสีตัดกันสูง ตลอดทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การออกแบบนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อมอบประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจและน่ารื่นรมย์ยิ่งขึ้นแก่ผู้บริโภคกลุ่มเหล่านี้

แบรนด์ SPC ProVital จากประเทศออสเตรเลีย ออกแบบ Lid ของถ้วยที่เปิดง่าย มีจำหน่ายในสถานดูแลผู้สูงอายุและโรงพยาบาล ได้รับการคิดค้นสูตรมาโดยเฉพาะเพื่อให้เป็นแหล่งของไฟเบอร์ที่ดีสำหรับผู้สูงวัย เพราะอัตราการโภชนาการของผู้ป่วยในโรงพยาบาลในออสเตรเลียประสบปัญหาการขาดสารอาหารมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งบรรจุภัณฑ์นี้ช่วยให้ผู้ที่มีทักษะการเคลื่อนไหว ความคล่องตัว และความแข็งแรงลดลง สามารถเปิดอาหารได้ง่ายขึ้น เพราะบรรจุภัณฑ์ได้รับการพัฒนาโดยเฉพาะสำหรับประชากรสูงวัยของออสเตรเลีย เพื่อให้เป็นของว่างผลไม้ที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นและเติมเต็มสารอาหารให้ครบถ้วน
เพื่อน ๆ ทุกคนลองนำแนวคิดและตัวอย่างเหล่านี้ไปปรับใช้ในการพัฒนาแบรนด์ พัฒนาการออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า “ถ้าแบรนด์ใดที่สามารถผสมผสานการออกแบบที่ครอบคลุมเข้ากับ DNA ของพวกเขาได้ จะไม่เพียงตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความจำเป็นด้านจริยธรรมไปพร้อมกับการขยายฐานผู้บริโภคของพวกเขา และมีส่วนช่วยสร้างสังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้นอีกด้วย”
บทความของวารสารบรรจุภัณฑ์ไทยไม่ได้มีเพียงเท่านี้ พวกเรายังมีเรื่องราวที่น่าสนใจให้ติดตามในเล่มอีกเพียบ อ่านต่อกันได้ที่ >> E-BOOK #164